xs
xsm
sm
md
lg

สปช.รับทราบวิกฤตกรุงเทพฯ ทรุด ชง 4 แนวทางแก้ไข เตือนไม่ป้องกัน 15 ปีจมแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปช.รับทราบรายงานรับมือวิกฤตกรุงเทพฯ จม เสนอตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติรับมือ ชี้ต้นตอปัญหาจากการใช้น้ำบาดาล และตึกสูงจำนวนมากทำแผ่นดินทรุด ผลระยะยาวอาจต้องย้ายเมืองหลวง เสนอ 4 แนวทางแก้ไข เตือนไม่ป้องกันอีก 15 ปีจมแน่

ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการการเตรียมการเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ (กรุงเทพฯ จม) เรื่องการปฏิรูปเพื่อรับมือวิกฤตการณ์น้ำทะเลขึ้นสูงและแผ่นดินทรุดพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยนายวิทยา กุลบูรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า จากลักษณะพื้นดินของกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 0.5-2.0 เมตร ประกอบกับ กทม.มีการพัฒนาความเจริญในหลายด้านส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความต้องการทรัพยากรมีเพิ่มมากขึ้น และนอกจากการทรุดตัวตามธรรมชาติแล้วยังพบว่าเกิดจากการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ระบบน้ำประปาเข้าไม่ถึง ปัญหาที่พบจากการใช้น้ำบาดาลมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้พื้นดินใน กทม.และปริมณฑลเกิดทรุดตัว รวมทั้งภาวะน้ำหนักกดทับจากสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบัน กทม.มีอาคารสูง 20 ชั้นขึ้นไปประมาณ 700 แห่ง และ 8-20 ชั้น 4 พันแห่ง และรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นหลายสาย ทำให้พื้นที่บางส่วนของ กทม.และปริมณฑลมีโอกาสจะจมน้ำทะเลได้ในอนาคต

นายวิทยากล่าวว่า การปฏิรูปโดยเฉพาะในเชิงนโยบายจะต้องครอบคลุมทุกมิติที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยจัดเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อรับมือวิกฤตการณ์น้ำทะเลหนุนสูงและแผ่นดินทรุด โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจัดทำเป็นแผนหลักระยะยาว โดยเพิ่มเติมกฎหมายและขยายขอบเขตบทบาท กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปฏิรูปองค์กร ต้องกำหนดให้หน่วยงานหรือคณะกรรมการเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนแผนงาน กำกับดูแลภารกิจในการป้องกันและรับมือปัญหาวิกฤตน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งโอกาสที่ กทม.และปริมณฑลมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของดินและน้ำทะเลขึ้นสูง หากไม่ดำเนินการหรือมีมาตรการรองรับในระยะสั้น จะเกิดความเสี่ยงสูงมาก จากพื้นที่น้ำทะเลท่วมในวงกว้างและลึก โดยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และใช้งบประมาณมหาศาล และอาจจะต้องมีการทบทวนประเด็นของการย้ายเมืองหลวงด้วย แต่ขณะนี้ กทม.มีความเสี่ยงอยู่ในระดับกลาง หากดำเนินการด้านมาตรการเพื่อรองรับในระยะเวลาที่เหมาะสมก็จะสามารถรับมือวิฤตการณ์ได้ทัน สามารถควบคุมความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นว่าควรให้มีการขุดลอกคูคลองเพื่อให้การระบายน้ำสะดวกรวดเร็วขึ้นในช่วงน้ำท่วม และสร้างทางน้ำออกสู่ทะเล รวมถึงมีการเสนอให้หยุดการเติบโตของเมือง โดยพิจารณาย้ายแหล่งอุตสาหกรรม แหล่งธุรกิจ ออกนอกพื้นที่ กทม.และพื้นที่ภาคตะวันออกด้วย โดยอาจจะเป็นโครงการใน 20-30 ปีข้างหน้า จากนั้นที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานดังกล่าว ด้วยคะแนน 166 ต่อ 5 งดออกเสียง 4 เพื่อส่งให้คณะกรรมาธิการนำกลับไปทบทวนใหม่ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 7 วัน

นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ กรรมาธิการฯ แถลงว่า มาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้ กทม.จมนั้นจะต้องทำในหลายประเด็น 1. การควบคุมการใช้น้ำบาดาล เพื่อควบคุมการทรุดตัวของแผ่นดิน 2. การควบคุมผังเมืองเพื่อควบคุมอาคารสูงไม่ให้กดทับพื้นดิน 3. ควบคุมการยกระดับของน้ำทะเล และ 4. บูรณาการดำเนินการป้องกันแบบองค์รวม หากไม่มีการดำเนินการอะไรเลยในเรื่องเหล่านี้ ประเมินว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุด กทม.จะจมใน 15 ปีข้างหน้า ดังนั้นในช่วงเวลานี้ต้องเร่งทำเรื่อง กทม.จมให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อหามาตรการในการรับมือ ปัจจัยที่น่าห่วงที่สุด คือ การหนุนของน้ำทะเล เพราะไม่สามารถควบคุมได้ ขณะนี้ที่อ่าวไทยมีน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทุกปี จึงมีแนวคิดที่จะทำเขื่อนกั้นน้ำทะเล ตั้งแต่ อ.ศรีราชา ถึง อ.หัวหิน เพื่อป้องกันไม่ให้ กทม.จม ตลอดจนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่โดยรอบซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น