xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ปลื้มงานเมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน ชวนเที่ยวสัปดาห์สุดท้าย - จี้ ฝากครรภ์รับเงินอุดหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล (แฟ้มภาพ)
“ไก่อู” เผย งาน “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน” 2 สัปดาห์ผ่าน ปชช. ร่วมงานคับคั่ง ยอดจำหน่ายเฉียด 10 ล. เชิญ ปชช. เที่ยวสัปดาห์สุดท้าย มีทั้งเรื่องสมุนไพร สุขภาพ ฉีดวัคซีนฟรี ตั้งเป้า ส่งเสริมมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย พร้อมเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์ที่จะคลอดช่วง 1 ต.ค. 58 - 30 ก.ย. 59 ฝากครรภ์ เพื่อรับเงินอุดหนุนทุกเดือนจนครบขวบ 400 ต่อเดือน จี้ ทำตามเงื่อนไข

วันนี้ (19 ก.ค.) พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน” ณ เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7 - 26 กรกฎาคม 58 ว่า ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ของการจัดงานมีประชาชนเข้าร่วมงาน และจัดจ่ายซื้อหาสินค้าจำนวนมาก โดยมียอดจำหน่ายสินค้ารวม 9,878,089 บาท ผู้เข้าชมงานสะสม 59,111 คน เฉพาะยอดวันที่ 18 ก.ค. 58 มียอดจำหน่ายสินค้า 1,496,863 บาท ผู้เข้าชมงานประจำวัน 6,582 คน

โดยยอดจำหน่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้านส้มทิพย์ เสน่ห์จันทน์ ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเปลือกส้มโอ 234,980 บาท ร้านมาดามเฮง จำหน่ายผลิตภัณฑ์สบู่ 143,788 บาท บริษัท ยูนิกลอรี่ จำหน่ายผลไม้/สมุนไพรอบแห้ง 140,000 บาท ร้านอภัยภูเบศร จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร 127,000 บาท และร้านองค์การเภสัชกรรมจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร 48,800 บาท

“สัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการจัดงานแล้ว ขอเชิญพี่น้องประชาชนเข้าร่วมชมงาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน ได้เชิญผู้ประกอบการมาร่วมออกบูธ และจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกว่า 100 ร้านค้าทั่วประเทศ ในราคาย่อมเยา หาซื้อยาก อาทิ เจลฟ้าทะลายโจร ยาสมุนไพรวัยทอง ขนมหวานจากผักพื้นบ้าน เช่น กระพังโหม หรือต้นตดหมูตดหมา ผลิตภัณฑ์จากหญ้ารีแพร์ ชาสำเร็จรูปกระชับสัดส่วน เป็นต้น”

นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดกิจกรรมด้านสุขภาพมากมาย อาทิ การนวดตอกเส้น นวดรักษาอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต นิ้วล็อก ไหล่ติด ไมเกรน การเสวนาให้ความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อนำไปต่อยอดอาชีพเสริม การแนะนำสมุนไพรป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ การบริการตรวจสุขภาพมวลของร่างเบื้องต้น เป็นต้น และการบริการฉีดวัคซีนฟรีของกรมควบคุมโรค ซึ่งสัปดาห์แรกของการจัดงานได้บริการวัคซีนป้องกันโรคไขหวัดใหญ่ไปแล้ว และตั้งแต่วันที่ 17 - 26 ก.ค. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ และบาดทะยักฟรีวันละ 500 คน

สำหรับวันอาทิตย์ที่ 19 ก.ค. นี้ โดยกิจกรรมที่น่าสนใจจัดเต็มตลอดทั้งวัน ช่วงเวลา 11.30 - 14.00 น. มีกิจกรรมให้ความรู้และตอบปัญหาชิงรางวัลในหัวข้อ “เจ็บจากรถ หมดกังวล มีคนจ่าย อย่างไร?” 14.00 - 16.00 น. การแสดงดนตรีคลายเครียด 16.00 - 18.00 น. เสวนาให้ความรู้หัวข้อ “The mask “do it yourself”” และ 18.00 น .จะมีการแจกต้นกล้าสมุนไพรฟรีให้กับผู้ร่วมงาน

สำหรับวัตถุประสงค์ของงานครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ เชื่อมโยงภาคเกษตรไปสู่ภาคการผลิต ขยายโอกาสธุรกิจต่อเนื่องในอนาคต ทั้งตลาดในประเทศ อาเซียน และตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยมีมูลค่าปีละประมาณ 48,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 15 - 20 ต่อปี จึงความสนับสนุนให้มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมมั่นคงของมนุษย์ ว่า อยากเชิญชวนให้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ทราบว่า ตนเองจะคลอดบุตรในช่วง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 58 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 59 ให้ฝากครรภ์เพื่อรับคำแนะนำการดูแลตนเอง และเตรียมพร้อมการดูแลบุตรที่จะคลอดด้วย และเมื่อคลอดบุตรแล้ว ขอให้คุณแม่นำบุตรไปรับการตรวจสุขภาพ และรับวัคซีนตามกำหนดที่คุณหมอนัดหมายทุกครั้ง เพื่อประกอบการรับเงินอุดหนุนทุกเดือนจนบุตรอายุครบ 1 ขวบ

“อยากเรียนว่าโครงการอุดหนุนเด็กแรกเกิด 400 บาท ต่อคนต่อเดือน ถือเป็นมาตรการในการจูงใจ และกระตุ้นให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลให้เด็กได้รับบริการสาธารณสุขและบริการด้านการพัฒนาการตามช่วงวัยต่าง ๆ ตามมาตรฐานที่ควรเป็น หมายความว่า รัฐจะมอบเงินอุดหนุนเมื่อมีหลักฐานว่า น้อง ๆ ได้รับบริการทางด้านสุขภาพตามช่วงวัยอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถดูได้จากสมุดบันทึกแม่และเด็ก (สมุดสีชมพู) เพราะ หากไม่ใช้เงื่อนไขนี้ จะไม่สามารถรับรองถึงผลที่จะตกกับตัวเด็กได้เลย และอาจจะเป็นการใช้งบประมาณที่อาจไม่ก่อให้เกิดผลสร้างเสริมใดกับตัวเด็ก ๆ เลย”

พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า การที่คุณแม่นำน้องมารับการตรวจสุขภาพ ยังมีส่วนช่วยให้มีข้อมูลเพื่อใช้ในการติดตามประเมินผลประสิทธิภาพและประสินธิผลของโครงการด้วย ว่า มีผลช่วยพัฒนาสุขภาพเด็กไทยในวัยสำคัญนี้อย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การวางแผนโครงการในอนาคตว่าควรดำเนินการต่อหรือไม่ หรือควรปรับเปลี่ยนปรับปรุงในจุดใด


กำลังโหลดความคิดเห็น