“จาตุรนต์” หยันรัฐบาลทหารปรับ ครม.ตอนนี้สายเกินไป อ้างอยู่ในระบอบไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น แถม “ประยุทธ์” ก็พูดอยู่คนเดียว ทำรัฐมนตรีไม่กล้าทำอะไร แนะฟังความเห็นต่าง คืนประชาธิปไตย เชื่อมาตรา 44 พาเข้ารกเข้าพงไปเรื่อย ทำข้าราชการเสียขวัญ กลัวทำอะไรไม่ถูกใจ เตือน กมธ.ยกร่างฯ ฟันผู้เคยถูกถอดถอนย้อนหลังส่อขัดนิติธรรม
วันนี้ (18 ก.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จะมาปรับ ครม.ชั่วโมงนี้คงไม่ช่วยอะไร สายเกินไป เพราะว่าปัญหาเศรษฐกิจถูกสะสมมานาน และเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว ที่ต้องอาศัยการเจรจา ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ แต่เนื่องจากเราปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับ การเจรจาค้าขายก็ทำได้ยาก ดังนั้น ต่อให้เปลี่ยนตัวบุคคลแต่ถ้ายังอยู่ภายใต้ระบอบเดิม มันไม่ทำอะไรให้ดีขึ้นได้ อีกอย่างการทำงานรัฐบาลนี้ก็ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.คนเดียว พูดทุกเรื่องอยู่คนเดียว พูดในลักษณะผิดบ้าง ถูกบ้าง สเปะสะปะ พวกรัฐมนตรีก็ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร กลัวจะไปขัดกับนายกฯ ถึงเปลี่ยนรัฐมนตรี แต่ยังทำงานแบบนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ดังนั้น มีทางออก 2 เรื่องคือ เปิดรับฟังความคิดเห็นต่างให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้นายกฯ รับรู้ความจริงมากขึ้น จะทำให้ผู้ที่อยู่รอบตัวนายกฯ กล้าพูดความจริง ไม่ใช่พูดเพื่อเอาใจ หรือให้นายกฯ สบายใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุการแก้ไขปัญหาที่ผิดทิศผิดทาง และล้มเหลว อีกเรื่องคือ ต้องทำให้คนมั่นใจว่า อยากคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว และสังคมไปสู่ความมีเสถียรภาพ เวลานี้ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันว่าจะปฏิบัติตามโรดแมป แต่ไม่มีใครรู้ว่าโรดแมปจะถูกเปลี่ยนอีกครั้ง ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน และจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรตามมา เพราะฉะนั้นไม่มีใครแน่ใจว่าประเทศไทยจะคืนสู่ประชาธิปไตยหรือไม่ และเมื่อไร และการทำให้เห็นว่าไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาอย่างจริงจัง การที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่เลือกฝ่ายเลือกข้างอย่างชัดเจน ทำให้คนยังวิตกว่าในอนาคตข้างหน้าก็ยังไม่มีเสถียรภาพ ต้องแก้ปัญหา 2 เรื่องนี้ก่อน
เมื่อถามว่า การใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่งด้วยหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ธรรมชาติของมาตรานี้ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ มันเป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดย่อมไม่ฟังใคร และยังไม่เปิดให้คนแสดงความเห็นต่าง การใช้มาตรา 44 ก็เข้ารกเข้าพงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ เรื่องจำนวนมากเป็นเรื่องต้องการองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ไม่ได้ต้องการความเด็ดขาด พอมาใช้มาตรา 44 โดยไม่สามารถแสวงความร่วมมือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่างก็ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทั้งการแก้ปัญหาประมง การบินพลเรือน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญๆ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวการใช้มาตรา 44
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รวมถึงปัญหาข้าราชการไม่กล้าเบิกจ่ายงบประะมาณ ก็โยงถึงการใช้มาตรา 44 ด้วย เพราะเอามาตรา 44 มาใช้ให้คุณให้โทษต่อข้าราชการ เป็นการใช้โดยไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ชี้แจงไม่ได้ อุทธรณ์ร้องเรียนอะไรไม่ได้ ทำให้ข้าราชการเสียขวัญกำลังใจ ไม่กล้าที่จะทำอะไร นอกจากนี้ การใช้อำนาจของรัฐบาลทำให้ข้าราชการหวาดกลัวถ้าทำอะไรไปไม่ถูกใจ ไม่รู้จะถูกเล่นงานเมื่อไร ดังนั้น เซฟตัวเองจะดีกว่า ปลอดภัยไว้ก่อน ด้วยการไม่ต้องเร่งรีบทำอะไร การคิดเรื่องใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้ เรื่องที่ควรจะทำได้ปกติก็ถูกชะลอออกไป เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว เป็นอย่างนี้ประจำ ในแต่ละกระทรวงต้องฟังหลายๆฝ่าย ต้องฟังทั้งผู้รักษาระเบียบ องค์กรต่างๆ ที่รักษกฎระเบียบปกติ และเมื่อต้องมาทำตามอำนาจเด็ดขาดที่ไม่ค่อยเข้าใจระเบียบกติกา ก็จะอยู่ด้วยความหวาดระแวง การเบิกจ่ายก็ล่าช้า ทำให้รัฐบาลหมดเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายจาตุรนต์ กล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติห้ามผู้ถูกถอดถอนคดีทุจริตลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปว่า ถ้ากำหนดคุณสมบัติเพื่อใช้ไปวันข้างหน้า มันก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าไปใช้คำว่าผู้ที่เคยเมื่อไร เท่ากับเป็นการใช้ย้อนหลังไปเป็นโทษต่อคนที่ได้รับโทษมาแล้ว หรือเคยได้รับโทษมาก่อน หรือรับโทษจนครบแล้วก็ตาม แต่ต้องมาเพิ่มโทษอีก เป็นการลงโทษย้อนหลังที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ถ้ามากำหนดคุณสมบัติเพิ่มโทษต่อผู้ที่เคยถูกถอดถอน มันก็มองได้ไม่ยากว่า จงใจจะให้เกิดต่อรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ถ้าใช้หลักนิติธรรมจริงๆ ต้องไม่มีการลงโทษ หรือเพิ่มโทษย้อนหลัง จะทำอะไรต้องมีผลไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียมกัน