“สรรเสริญ” เผย พ.ร.ฎ.เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เพื่อสร้างความเป็นธรรมระบบภาษี ชี้หากกำไรเหมือนธุรกิจอื่น ยกเว้นมานานแล้ว แจง เก็บหลังหักกำไรไม่ได้เก็บทั้งหมด ขออย่าผลักภาระนักเรียน คาดทำรายได้เข้ารัฐ 1.2 พันล้าน แต่คงเว้นภาษีสถาบันศึกษาเอกชน
วันนี้ (12 ก.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกเก็บภาษีเงินได้โรงเรียนกวดวิชาว่า เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาเป็นกิจการเพื่อการค้าและแสวงหากำไรเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น จึงควรเสียภาษีอย่างถูกต้องและเสมอภาคซึ่งได้รับการยกเว้นมาอย่างยาวนานแล้ว ควรดำเนินการเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง รวมทั้งไม่ถือเป็นการศึกษาทางหลักแต่เป็นการเรียนการสอนนอกเหนือจากการศึกษาในระบบปกติ
“ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นการจัดเก็บภาษีจากผลกำไร หลังหักค่าใช้จ่าย มิได้จัดเก็บจากรายรับทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นการลดในส่วนผลกำไรเพื่อนำส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน จึงอยากขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกท่านปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ควรผลักภาระให้แก่เด็กนักเรียน หากมีกรณีที่เด็กนักเรียน หรือผู้ปกครองรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถปรึกษาสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำตามที่เหมาะสมได้”
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า รัฐยังคงยกเว้นภาษีให้แก่โรงเรียน และสถาบันการศึกษาเอกชน เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษากระแสหลักและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อหนุนเสริมในจุดที่การจัดการศึกษาโดยรัฐไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั่วถึง
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการคาดการณ์ว่า มูลค่าการตลาดโรงเรียนกวดวิชาในปี 2558 จะสูงถึง 8,189 ล้านบาท และมีโรงเรียนกวดวิชาราว 2,000-3,000 แห่งทั่วประเทศ ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากปัจจุบันที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย คาดว่าการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาจะทำให้มีรายได้เข้ารัฐประมาณ 1,200 ล้านบาท