ป้อมพระสุเมรุ
ถูกตั้งครหาเหมือนกัน สำหรับกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาในลักษณะสารภาพว่า คดีที่ “สมบัติ ธรธรรม”อดีตกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ถูกร้องเรียนว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ ผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 12 กรณีจัดประกวดให้เช่าเนื้อที่โฆษณาบนรถเมล์ปรับอากาศ จำนวน 1,109 คัน หมดอายุความไปแล้ว
โดย "ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ" ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. อ้างพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 84 วรรคท้ายว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐพ้นจากตำแหน่งเกิน 10 ปี จะไม่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของป.ป.ช. จึงเป็นเหตุให้ “สมบัติ”พ้นจากข้อกล่าวหาแบบ“ช่วยไม่ได้”
ท่ามกลางความคลางแคลงใจว่า เรื่องนี้จะเป็นรายการจงใจปล่อยหลุดหรือไม่ เพราะ“สมบัติ”ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ปัจจุบันนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับ“พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง”กรรมการ ป.ป.ช.
แต่ดูเหมือนป.ป.ช. เองก็เขินกับเรื่องนี้ไม่น้อย และพยายามแก้ต่างด้วยการเดินหน้าไต่สวนอีกกลุ่มหนึ่งในคดีเดียวกันต่อไป ซึ่งหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาก็คือ กรรมการป.ป.ช.หญิงเดียวในปัจจุบัน“สุภา ปิยะจิตติ”และ นายพีระพงศ์ อิศรภักดี อดีตผู้อำนวยการ ขสมก.
โดยคดีนี้ แบ่งเป็น 2 ข้อกล่าวหาได้แก่ กรณีกล่าวหาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอีกกรณีคือ การกล่าวหาว่าผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว
สำหรับคดีจะหมดอายุความในวันที่ 20 ส.ค.58 หรืออีกแค่เดือนเศษๆเท่านั้น ส่วนกรณีถูกกล่าวหาว่าผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ยังเหลืออายุความอีกหลายปี ซึ่งประธานใหญ่แห่งป.ป.ช. "ปานเทพ" ออกตัวยืนยันว่า จะไม่ปล่อยให้คดีของ"สุภา" ขาดอายุความอย่างแน่นอน
มีหลายฝ่ายจับจ้องว่า สุดท้าย ป.ป.ช.จะเอาอย่างไรกับคดีดังกล่าว เพราะมี “คนใน”ของป.ป.ช. เองเป็นผู้ถูกกล่าวหาถึง 2 คน และหนึ่งในนั้นเป็นถึงกรรมการป.ป.ช. ซึ่งเป็นเหมือน“ไข่ในหิน”
จนเกิดความหวาดระแวงว่า สุดท้ายอาจจะ“บ้อท่า”เหมือนกับในรายของ“สมบัติ” เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ในเมื่อป.ป.ช. ยังปล่อยให้คดีของ“สมบัติ”ขาดอายุความได้ ทั้งๆที่ มีอายุความถึง 10 ปี จนทิ้งเบื้องหลังเอาไว้ให้ชวนคิดว่า แท้ที่จริงแล้วคดีนี้มันมี มูลหรือไม่ “สมบัติ”ผิดจริงหรือไม่ แต่ต้องมายกประโยชน์ให้จำเลยเสียก่อน
แล้วชอบธรรมแล้วหรือ ที่ “สมบัติ”ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาของ“พล.ต.อ.สถาพร”เหมือนเดิมต่อไปได้โดยไม่สะทกสะท้าน ทั้งที่ตัวเองรอดมาได้เพราะช่องโหว่ของกฎหมาย
ยังน่าฉุกคิดอีกว่า“พล.ต.อ.สถาพร”ได้รับการสรรหามาเป็นกรรมการป.ป.ช. แทน“เมธี ครองแก้ว”ที่หมดวาระดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2555 และควง“สมบัติ”มาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่แรกๆ รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นบาท มันเหมาะสมหรือไม่ที่นำคนมีมลทินมานั่ง
การนั่งเป็นที่ปรึกษา “พล.ต.อ.สถาพร”ยังทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชนบางส่วน เพราะคดีส่วนใหญ่ที่รับผิดชอบ เป็นคดีความที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด การที่ “สมบัติ”ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ข้างๆ จะทำให้คนมั่นใจได้อย่างไรว่า“คลีน” ไม่มีลับๆ ล่อๆ
ที่สำคัญ ขสมก. ที่“สุภา”และ“สมบัติ”เคยไปนั่งเป็นบอร์ดจนถูกฟ้องร้องเป็นคดีความนั้นก็เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเหมือนกัน แล้วนำคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมา มันถูกต้องตามครรลองแล้วหรือไม่ มันเลยกลายเป็นว่า หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ
อีกจุดน่าสงสัย คือ หลังจากเข้าไปรับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2555 เหตุใดคณะอนุกรรมการไต่สวนที่มี“วิชัย วิวิตเสวี”กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน กลับยังปล่อยให้ “สมบัติ”นั่งอยุ่ในตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการป.ป.ช. ที่ดูแลรัฐวิสาหกิจต่อไปอยู่ได้ โดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว ว่ามันส่อจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่ตุลาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน ลากยาวมาเกือบ 3 ปีเต็ม ก่อนที่จะปล่อยให้คดีหมดอายุความนั้นถือว่าเป็นเวลาที่นานพอ จึงทำให้คนนินทาหมาดูถูกว่า เรื่องนี้จะเป็นรายการจงใจที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 หรือไม่
ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า คดี“สุภา”จะออกมาในรูปแบบไหน จะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือเปล่า แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ คดีของ“สมบัติ”ไม่ได้จบแค่คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) เท่านั้น แต่เมื่อไล่ลงไปลึกๆ กลับปรากฏว่า ยังพบชื่อของ“สมบัติ”เข้าไปมีส่วนพัวพันกับโครงการจัดเช่า และจ้างเหมาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารชั้นเดียวปรับอากาศ (ยูโรทู) 500 คัน มูลค่าเกือบ 1,600 ล้านบาท อีกกระทง
แต่วันนี้คดีกลับหายวับเข้ากลีบเมฆไป!!!
ย้อนความดูในช่วงเดือนมกราคม 2547 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แจ้งผลการตรวจสอบเรื่องขสมก. ทุจริตโครงการจัดเช่าและจ้างเหมาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารชั้นเดียวปรับอากาศ (ยูโรทู) ขนาด 12 เมตร จำนวน 500 คัน ระบุว่า คณะกรรมการบริการจัดการ ขสมก. ผู้อนุมัติโครงการมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต สตง.ได้ส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ดำเนินคดีอาญา และทางแพ่งกับผู้ที่ทำให้รัฐเสียหาย 1,591,491,250 บาท
และมีการตรวจพบว่า“สมบัติ”ร่วมเป็นหนึ่งในบอร์ด ขสมก. ซึ่งจะต้องร่วมมีส่วนรับผิดชอบในคดีนี้ด้วย แต่ปรากฏว่า หลังจาก สตง. ส่งเรื่องนี้ไปถึง ผบ.ตร. เรื่องกลับหายเข้ากลีบเมฆเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลายาวนานถึง 11 ปี แล้ว ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
จึงเกิดคำถามขึ้นหลายข้อคือ 1. กระทรวงคมนาคมได้ฟ้องคดีแพ่งเพื่อเอาผิดกับผู้ที่ทำให้รัฐเสียหายกว่า 1,600 ล้านบาท หรือไม่ อย่างไร 2. สตช.ได้ดำเนินคดีกับบอร์ด ขสมก. ผู้อนุมัติโครงการหรือไม่ อย่างไร และ ที่สำคัญ 3. ป.ป.ช.ได้ดำเนินคดีกับบอร์ด ขสมก. ผู้อนุมัติโครงการหรือไม่ อย่างไร
แม้จะใช้ระยะเวลาตรวจสอบนานพอๆ กันทั้ง 3 หน่วยงาน แต่ที่น่าครหาที่สุดคือป.ป.ช. เนื่องจากผู้ถูกร้องอย่าง“สุภา”ยังสามารถนั่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้ ทั้งๆ ที่คดีที่ถูกร้องเรียนซึ่งอาจนำมาซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อน
และที่สาหัสกว่าใครคือ “พล.ต.อ สถาพร”ที่จะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ทำไมถึงยังปล่อยให้“สมบัติ”ปฏิบัติหน้าที่ ที่ปรึกษาอยู่ต่อไป เพราะแม้คดีแรกจะหมดอายุความไปแล้วก็ตามที
แต่คดีทุจริตรถยูโร ซึ่งล่องลอยหายเข้ากลีบเมฆ ก็ยังค้างคาเป็นก้างตำคออยู่ทนโท่ !!!