xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ถกจับนักศึกษา ย้ำแสดงออกเป็นสิทธิ กันน้ำผึ้งหยดเดียว คสช.ยันทำตามกฎหมายปัดขู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสม.ประชุมฝ่ายเกี่ยวข้องกรณีจับ 14 นักศึกษา คสช.แจงตำรวจจับกุม ทหารไม่เกี่ยว ปัดขู่ผู้ปกครอง ชี้ขึ้นศาลทหารเรื่องนโยบาย ให้ทำหนังสือถามตรง ยันทำตามกฎหมาย “วีระ” ย้อน สงสัยทหารปลอมที่ดำเนินการนักศึกษา อ.มธ.ชี้ใช้ กม.มีปัญหา อ้าง ม.44 ไม่มีเจตนาให้ขึ้นศาลทหาร บี้แยกให้ดีมีเบื้องหลังชักใยหรือแสดงความเห็นสุจริต อย่ากล่าวหาลอยๆ “หมอนิรันดร์” ปัดจับผิด แต่ให้รัฐเข้าใจการแสดงออกเป็นสิทธิเสรีภาพ กันน้ำผึ้งหยดเดียว

วันนี้ (8 ก.ค.) คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน ได้ประชุมกรณีการจับกุมนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 14 คน ข้อหาทำผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 116 และขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการชี้แจง อาทิ พ.อ.นุรัช กองแก้ว รอง ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญ ในฐานะตัวแทน คสช. นายสมพร มูสิกะ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะฝ่ายพยานผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ อนุกรรมการฯ และพยานผู้เชี่ยวชาญได้ซักถามตัวแทน คสช.ว่า ทหารมีส่วนเกี่ยวข้องหรืออยู่ในพื้นที่ขณะที่มีการจับกุมนักศึกษาหรือไม่ คสช.ได้มีการพิจารณาหรือไม่ว่า ความผิดในเชิงสิทธิเสรีภาพไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลทหาร และกรณีมีการกล่าวอ้างว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบไปพบผู้ปกครองของนักศึกษาในลักษณะข่มขู่คุกคาม กรณีพยายามตรวจค้นรถทนายความของนักศึกษากลุ่มดังกล่าว อีกทั้งหลังจากนี้หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นอีก คสช.จะมีนโยบายในการจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างไร

โดย พ.อ.นุรัชกล่าวยืนยันว่า ในขั้นตอนการจับกุม มีแต่เจ้าหน้าตำรวจปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ทหารไม่ส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งที่อ้างว่าทหารในนอกเครื่องแบบไปสะกดรอยตาม ไปพบผู้ปกครองนักศึกษาพูดจาในลักษณะคุกคามก็ยืนยันว่าไม่มี ส่วนความผิดในเชิงสิทธิเสรีภาพนั้นจะต้องขึ้นศาลทหารหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของนโยบายไม่สามารถตอบได้ อย่างไรก็ตาม คสช.ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนเรื่องนโยบาย คสช.จะเป็นอย่างไรนั้นขอให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรสอบถามไปยัง คสช.โดยตรง ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อกฎหมายมีอย่างไรก็ให้ปฏิบัติไปตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงของผู้แทนฝ่าย คสช.ทำให้นายวีระ สมความคิด อนุกรรมการฯ กล่าวว่า หากยืนยันว่าไม่มีทหารเกี่ยวข้องทั้งในการจับกุมนักศึกษาหรือการไปคุกคามผู้ปกครอง แต่เมื่อทั้งนักศึกษาและผู้ปกครองต่างยืนยันเช่นกันว่ามีจริงและยังจำหน้าได้ แสดงว่าทหารที่ตามคำกล่าวอ้างนั้นเป็นทหารปลอม จึงอยากฝากให้ไปเรียนนายกฯ ว่าควรรีบดำเนินการหาตัวทหารปลอม เพราะนี่เป็นเรื่องแปลก ไม่รู้สึกเสียหายหรือคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรรีบจัดการบ้างหรือไม่

ด้านนายกิตติศักดิ์เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายกำลังมีปัญหาในทางปฏิบัติ หากจะกล่าวหาว่านักศึกษากระทำการขัดต่อคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 ประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ซึ่งดูแล้วประกาศนี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ศาลทหาร แต่ควรเป็นศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดี โดยก่อนหน้านั้น คดีอื่นที่มีการขึ้นศาลทหาร เนื่องจากในช่วงนั้นยังมีกฎอัยการศึกและยังมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 จึงเห็นว่าการนำตัวนักศึกษามาขึ้นศาลทหารนี้จะทำให้การใช้กฎหมายขัดแย้งกันเอง อยากทราบว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาบ้างหรือไม่ว่าถ้าใช้กฎหมายสับสนจะทำให้เกิดปัญหาอย่างไร

นอกจากนี้ ประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 116 ตนได้เคยคุยกับผู้ใหญ่ด้านความมั่นคงซึ่งเขายืนยันว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่หวังจะก่อให้เกิดความรุนแรง และรัฐบาลก็ยืนยันในเรื่องดังกล่าว หากเป็นเช่นนั้น คสช.ควรดำเนินคดี ถ้ามีหลักฐานมัดตัวผู้ที่จงใจก่อเหตุร้าย แต่ในกรณีของนักศึกษากลุ่มนี้ต้องแยกให้ดีว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือแสดงความเห็นโดยสุจริต ถ้าเป็นสุจริตชนก็ไม่ควรควบคุมตัว ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นไปตามแนวทางนี้ เพราะศาลทหารก็พิจารณาไม่ฝากขังต่อเพราะยังไม่ปรากฎหลักฐานตามข้อกล่าวหาที่ทางราชการได้ยืนยัน

“การไปกล่าวหาลอยๆ อาจไปกระทบต่อเรื่องความมั่นคง เนื่องจากอาจถูกมองว่าแค่มีความสงสัย หรือแค่กล่าวอ้าง แต่ไม่มีหลักฐานก็สามารถจับกุมตัวได้ เชื่อว่า กสม.สามารถช่วยให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการพิจาณาคดี โดย กสม.อาจหารือกับ คสช.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อวางแนวทางว่าหากมีความผิดในลักษณะนี้จะถูกลงโทษอย่างไร ใช้เหตุผลมาโต้แย้ง ไม่ใช่หวังผลอื่นกับความเห็นต่าง เพราะถ้าแนวทางปฏิบัติไม่ดีก็อาจมีความพยายามที่ใช้ข้อกล่าวหาที่รุนแรงมากขึ้น” นายกิตติศักดิ์กล่าว

จากนั้น นพ.นิรันดร์กล่าวว่า กสม.ไม่ได้ตรวจสอบเพื่อจับผิด หากแต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้หน่วยงานรัฐที่ต้องใช้หลักนิติรัฐนิติธรรม ความสำคัญของ คสช.คือต้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนข้นพื้นฐาน แม้แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ให้การรับรองเรื่องดังกล่าวไว้ แม้คำสั่งหรือประกาศ คสช. รวมทั้งกฎอัยการศึกจะเคยใช้แก้ปัญหาความรุนแรงที่มีอยู่จริงในช่วงแรก แต่จากวันนี้รัฐบาลต้องเข้าใจว่าการแสดงความเห็นต่างทางการเมืองเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ต้องไม่ให้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว โดยสังคมก็ต้องไม่ผลักให้คนที่เห็นต่างกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นความรุนแรง และการจัดการปัญหาก็ต้องมีวิธีการที่อยู่ในขอบเขตของสันติวิธี ไม่ใช่การใช้อำนาจเด็ดขาดทางการเมือง ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 ก็ต้องยึดหลักความเป็นธรรม ประเด็นทั้งหมดนี้ กสม.จะทำหนังสือไปยัง คสช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว














กำลังโหลดความคิดเห็น