รัฐบาลประกาศเกียรติคุณ 10 บุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติ “วิษณุ เครืองาม” นำเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพฯ พรุ่งนี้ “สาขาพัฒนาสังคม” ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิพนธ์ ฉัตรทิพากร” “สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย” นายเผ่าทอง ทองเจือ “ประเภทหน่วยงาน” สวนนงนุชพัทยา
วันนี้ (6 ก.ค. 58) เวลา 14.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวการประกาศเกียรติคุณบุคคล หน่วยงานและโครงการดีเด่นของชาติ ประจำปี 2557 สรุปสาระสำคัญ ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ จะนำคณะบุคคล ผู้แทนหน่วยงาน และผู้แทนโครงการดีเด่นของชาติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ประจำปี 2557 เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ ในวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2558 เวลา 10.00 น. ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
ทั้งนี้ รัฐบาล โดยสำนักนายกรัฐมนตรีจะจัดงานประกาศเกียรติคุณแสดงความยินดีแก่บุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติ ครั้งที่ 25 ประจำปี 2557 ในวันดังกล่าว เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานในงานดังกล่าว
ม.ล.ปนัดดา เปิดเผยว่า สำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้ดำเนินโครงการคัดเลือกบุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจแก่บุคคล หน่วยงาน และโครงการที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งมีแนวทางการพิจารณาและหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นผลงานดีเด่นของหน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หรือบุคคลต่าง ๆ และเป็นผลงานที่ได้ดำเนินการมาในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี พร้อมดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในอนาคตและเห็นผลแน่นอน
โดยเป็นผลงานของคนไทยที่สมควรภาคภูมิใจในระดับชาติ เป็นที่ยอมรับในส่วนรวม และผลงานนั้นเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง รวมทั้งบุคคลเจ้าของผลงานที่ส่งเข้ารับการคัดเลือกต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี มีคุณธรรม และจริยธรรมในการครองตน มีแนวทางและอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม ที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จเป็นปูชนียบุคคลที่สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บุคคลทั่วไป โดยจะพิจารณาตามประเภท หรือสาขาของผลงาน หรือวิชาชีพในด้านใดด้านหนึ่งตามที่กำหนดไว้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2557 มีบุคคลและหน่วยงานได้รับการคัดเลือก จำนวน 10 ราย จาก 5 สาขา ได้แก่
สาขาพัฒนาสังคม
ประเภทบุคคล ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ศูนย์วิชาการติดตามผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนสร้างความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนากับเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นการสร้างมิตรภาพที่ทำให้เข้าใจประเทศไทยได้ดีขึ้น
ประเภทหน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เป็นโรงพยาบาลสัตว์ที่มีจำนวนสัตว์ป่วยประเภทสัตว์เลี้ยงมากที่สุดในโลก มีทีมสัตวแพทย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษสาขาต่าง ๆ พร้อมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดจนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเป็นแบบอย่างขององค์กรเพื่อสังคมเป็นสุข
สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ
ประเภทโครงการ ได้แก่ โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC เพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะ ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของนักเรียนและครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมสร้างเครือข่ายและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
สาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเภทโครงการ ได้แก่ โครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคตของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดยการสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้ว 65,440 ฝาย เพื่อสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ บรรเทาภาวะโลกร้อน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและคืนความสุขสู่สังคมอย่างยั่งยืน และสร้างความหลากหลายของสายพันธุ์พืชและสัตว์ป่า
สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ประเภทบุคคล ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรม สาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีรักษาผู้ป่วย และเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทศศาสตร์ หาญรุ่งโรจน์ ได้นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย ในฐานะผู้ประดิษฐ์คิดค้นกระดูกข้อเท้าเทียมเป็นคนแรกของโลก สามารถนำไปใช้ได้จริงในการรักษาผู้ป่วย ที่ต้องการเท้าและข้อเท้าอันเนื่องมาจากโรคกระดูกข้อเท้าตายจากการขาดเลือดมาเลี้ยง การแตกหักอย่างรุนแรงของกระดูกข้อเท้า และยังสามารถรักษาทดแทนกระดูกข้อเท้าที่เป็นมะเร็งกระดูกอย่างได้ผลดี
ศาสตราจารย์เสาวภา อังสุภานิช นักวิจัยคนแรกที่ริเริ่มศึกษาสัตว์พื้นใต้น้ำในกลุ่มทาไนดาเซีย ทั้งด้านนิเวศวิทยาและอนุกรมวิธาน ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศชายฝั่งทะเลสาบสงขลา เป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี ได้ค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ระดับโลกในสัตว์กลุ่มนี้ ทั้งระดับสกุลและชนิด รวม 11 ชนิด สัตว์กลุ่มอื่น ๆ อีก 5 ชนิด นับเป็นการเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศไทย และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย มีความก้าวหน้าทางวิชาการเชิงลึก และมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ประเภทหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ และสถานีวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชไร่แบบครบวงจร บริการทางวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชไร่และสาขาที่เกี่ยวข้อง ผลิตเมล็ดพันธุ์ ท่อน พันธุ์มันสำปะหลัง และส่วนขยายพันธุ์พืชที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพดี เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและข้าวฟ่างจำหน่ายแก่เกษตรกร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย
ประเภทบุคคล ได้แก่ นายเผ่าทอง ทองเจือ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทยนักประวัติศาสตร์ไทย นักโบราณคดี วิทยากรผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้เผยแพร่และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ผ้าไทยโบราณ และพัฒนาต่อยอดผ้าทอไทยสู่ระดับสากล จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ประเภทหน่วยงาน ได้แก่ สวนนงนุชพัทยา สถานที่ท่องเที่ยวระดับแนวหน้าที่มีชื่อเสียงมากของประเทศแห่งหนึ่ง มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ โดยการเข้าร่วมประกวดจัดสวนในงานเชลซีฟลาวเวอร์โชว์เป็นงานแสดงดอกไม้ของ สหราชอาณาจักรที่มีชื่อเสียงที่สุดและมีผู้เข้าชมจากทั่วโลก และได้รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง 6 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 - 2558 เป็นระยะเวลา 5 ปี.