โฆษก คสช.ระบุการดูแลความปลอดภัยศาลทหารระหว่างพิจารณาฝากขัง 14 นักศึกษา ผลัดที่ 2 พรุ่งนี้ ใช้กฎหมายปกติ ขณะที่หัวหน้าศาลทหาร กรุงเทพฯ ยันพิจารณาอย่างโปร่งใส่ ด้านรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ยื่นจดหมายค้านฝากขัง
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการดูแลรักษาความปลอดภัย กรณีที่พนักงานสอบสวนยื่นฝากขังนักศึก 14 คน มาตรา 116 และ 83 ผลัด 2 ที่ศาลทหารกรุงเทพ ในวันที่ 7 ก.ค. หลังจากที่ครบกำหนดฝากขังผลัดแรก 12 วันว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยในเบื้องต้นจะใช้กฎหมายปกติ คือเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดูแล ในส่วนของทหารเรามีกองกำลังรักษาความาสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว ส่วน คสช.จะมีคำสั่งการห้ามนักศึกษา 14 คนเดินทางไปต่างประเทศหรือไม่นั้น ถือเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณา โดยดูจากพฤติกรรมต่างๆ
ด้าน พล.ต.พนมเทพ เวสารัชชนันท์ ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) การดูแลรักษาความปลอดภัยในส่วนของศาลทหารก็จะดูแลเพียงภายในเท่านั้น ส่วนบริเวณด้านนอกรอบๆ บริเวณศาลจะเป็นในส่วนของกองรักษาความปลอดภัยของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งทางศาลทหารมีการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยอยู่แล้วไม่มีการปิดบังแต่อย่างใด แต่เนื่องจากห้องพิจารณาคดีของทางศาลค่อนข้างเล็ก จุคนได้เพียง 20-30 คน จึงต้องมีการส่งตัวแทนเข้าไปร่วมฟังเท่านั้น เฉพาะญาติของผู้ที่เข้าฟังทั้ง 14 คน ทนายความ ผู้สื่อข่าว ก็ต้องตกลงกันว่าใครจะเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาคดี
“ผมขอทำความเข้าใจว่า ทางศาลทหารในการขึ้นพิจารณาคดีในแต่ละครั้งที่มีพลเรือนขึ้น องค์คณะพิจารณาคดีทั้ง 3 ท่านเป็นตุลาการพระธรรมนูญ ก็คือ ผู้พิพากษาทั้ง 3 ท่าน จึงขอให้มั่นใจในความโปร่งใส่ในการพิจารณาคดี”
ขณะที่ที่ศาลทหารกรุงเทพ เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (6 ก.ค.) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนายต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้พิพากษาศาลทหารกรุงเทพที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม เพื่อคัดค้านการฝากขังผลัดที่ 2 ที่จะครบกำหนดผลัดแรกในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) โดยเนื้อหาในจดหมายดังกล่าวระบุว่า ตามที่ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติหมายจับนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวน 14 คน ที่ได้มีการแสดงออกทางการเมืองในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และอนุมัติให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ในเรือนจำตามคำขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเวลา 12 วัน ซึ่งจะครบกำหนดฝากขังในวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 นั้น โดยที่ในผู้ต้องหา 14 คน มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ด้วยนั้น
“ข้าพเจ้าในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงใคร่ขอให้ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้โปรดพิจารณาไม่อนุมัติฝากขังจำเลยทั้ง 14 คนต่อเมื่อครบกำหนดฝากขังในครั้งแรก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1. เหตุผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขอฝากขังคือ เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงขอเอาตัวมาฝากขังไว้ในเรือนจำ เพื่อดำเนินการส่งฟ้องต่อไป แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาของทั้ง 14 คน ไม่ปรากฏว่าจะมีการหลบหนีแต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอฝากขังเป็นเรื่องความสะดวกในการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เป็นสิ่งที่กระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาทั้ง 14 คนมากเกินไปโดยไม่จำเป็น
2. ตามหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรมนั้น ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนเป็นแต่เพียงผู้ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเอาตัวไปฝากขังไว้ในเรือนจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยที่ยังไม่มีการส่งฟ้องต่อศาลคือยังไม่เป็นจำเลยด้วยซ้ำไป จึงเป็นเรื่องที่กระทบต่อความเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม 3. ถึงแม้ว่าคำสั่ง คสช. ที่ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าฝ่าฝืนนั้น จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แต่มาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 3 บัญญัติให้ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อีกทั้งมาตรา 4 ยังบัญญัติไว้อีกว่า “ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
การแสดงออกซึ่งความเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเป็นสิทธิเสรีภาพที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญมาทุกฉบับ และการได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีโดยไม่ถูกกักขังระหว่างการพิจารณาก็เป็นสิทธิตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีอยู่ด้วย การใช้และการตีความมาตรา 44 จึงต้องคำนึงถึงมาตรา 2 มาตรา 3 และมาตรา 4 ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีโดยไม่ต้องถูกขังในระหว่างการดำเนินคดี ทั้งนี้ จึงใคร่ขอศาลทหารกรุงเทพได้โปรดพิจารณาไม่อนุมัติฝากขังต่อ และให้ผู้ต้องหา 14 คนได้มีสิทธิต่อสู้คดีนอกเรือนจำด้วย