xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ จ่อปรับโครงสร้างสภาขับเคลื่อนปฏิรูป เป็น กก.20 คน ก่อนเลือกคณะทำงานฯเข้ามาดำเนินการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เตรียมปรับโครงสร้างสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ จากเดิมเป็นตั้งกรรมการ 20 คน กำหนดประเด็นปฏิรูป ก่อนคัดเลือกคณะทำงานเพื่อลุยปฏิรูป พร้อมใช้ศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกลไกถอดถอนนักการเมืองโกง แทนสมัชชาคุณธรรม

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญว่า คณะ กมธ.ยกร่างฯ มีแนวโน้มที่จะปรับโครงสร้างของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ได้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่กำหนดให้มีสมาชิกจำนวน 120 คน โดยปรับให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า คณะกรรมการการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีกรรมการจำนวน 20 คน ทำหน้าที่ในการกำหนดประเด็นในการปฏิรูป จากนั้นคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ

ทั้งนี้ คณะกรรมการและคณะทำงานชุดนี้จะรวมกันภายใต้โครงสร้างสภา โดยจะมีการตั้งชื่อใหม่แทนชื่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อป้องกันความสับสนกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) ที่กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายหลัง สปช.ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามคณะ กมธ.ยกร่างฯ มีแนวโน้มที่จะบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปฯ หลังจากที่มีรัฐบาลใหม่และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 สิ้นสุดลง

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ จะปรับลดอำนาจของ ส.ว. ให้สามารถถอดถอนได้เฉพาะบุคคลที่ ส.ว.แต่งตั้งนั้น เพราะต้องการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับการได้มาซึ่ง ส.ว. เพราะถ้าจะให้ ส.ว.มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

ทั้งนี้ คณะ กมธ.ยกร่างฯ มีแนวคิดใช้กลไกในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยใช้กลไกของศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะที่ผ่านมากลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของวุฒิสภาไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนั้นแล้วยังมีแนวโน้มที่จะตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่มีกลไกในการยื่นเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความประพฤติมิชอบ เพราะพิจารณาจากรายงานเกี่ยวกับสมัชชาคุณธรรมฯ ที่ส่งไปยังคณะรัฐมนตรียังไม่มีมติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด ฉะนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีระเบียบหรือโครงสร้างใดรองรับ


กำลังโหลดความคิดเห็น