xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ร่วมถกผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค (แฟ้มภาพ)
นายกรัฐมนตรีไปกรุงเนปิดอว์ ร่วมประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 6 เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ พร้อมการพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือด้านต่างๆ ใน 8 สาขา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผู้นำชาติสมาชิก เข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 6 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2558

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 6 (Ayeyawaddy - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) พร้อมผู้นำจากประเทศสมาชิกประกอบด้วย สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี กัมพูชา นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า และนายเหงียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม พร้อมด้วยนายเล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน โดยจะเข้าร่วมการประชุม ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2558 นี้

สำหรับวาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ เพื่อให้ผู้นำได้ติดตามความคืบหน้าความร่วมมือ 8 สาขาหลักของ ACMECS และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือร่วมกันในอนาคตต่อไป โอกาสนี้ที่ประชุมฯ จะรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน ACMECS ด้วย เอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุม 2 ฉบับ ประกอบด้วย ปฏิญญาการประชุมผู้นำ ACMECS (Nay Pyi Taw Declaration of the Sixth Ayeyawady - Chao-Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy Summit) และแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี ค.ศ. 2016-2018 (ACMECS Plan of Action 2016-2018) ร่างปฏิญญากรุงเนปิดอว์

การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 จะเป็นการกล่าวถึงการรับรองแผนปฏิบัติการ ACMECS ในปี 2559-2561 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำที่จะส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือใน 8 สาขา นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมใน

โครงการและแผนงานต่างๆ ภายใต้กรอบ ACMECS ด้วย คือ 1. การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน 2. การเกษตร 3. อุตสาหกรรมและพลังงาน 4. การเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่ง 5. การท่องเที่ยว 6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7. สาธารณสุข และ 8. สิ่งแวดล้อม

ร่างแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี 2559-2561 มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตเดียวกันของอนุภูมิภาค สนับสนุนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก โดยระบุแผนการดำเนินการ 8 สาขาความร่วมมือ ดังนี้ 1. การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน 2. การเกษตร 3. อุตสาหกรรมและพลังงาน 4. การเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่ง 5. การท่องเที่ยว 6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7. สาธารณสุข และ 8. สิ่งแวดล้อม

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS นั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำคัญของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยจะเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคและอาเซียน สร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของทั้งห้าประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาอย่างสมดุล ลดช่องว่างการพัฒนาและเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการไปมาหาสู่ในระดับประชาชนระหว่างประเทศสมาชิก

สำหรับกำหนดการสำคัญของนายกรัฐมนตรี มีดังนี้ วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2558 ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ เพื่อเดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ในช่วงค่ำ นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ในฐานะประธานการประชุมเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 ณ ห้อง Jade Hall ชั้น 2 ศูนย์ประชุม MICC-1 วันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2558

ช่วงเช้านายกรัฐมนตรีร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 ณ ห้อง ศูนย์ประชุม MICC-1 และร่วมการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงของผู้นำในประเด็น “การทบทวนความร่วมมือในกรอบ ACMECS และทิศทางความร่วมมือในอนาคต” ซึ่งที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ช่วงเที่ยงนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำ ACMECS และภาคเอกชน

เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ในเวลา 16.00 น. ในวันเดียวกัน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่ไทยได้จาก ACMECS จะอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ ประโยชน์ที่ไทยได้รับจาก ACMECS หมายถึงประโยชน์ที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้รับเช่นเดียวกัน ทั้งโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม โครงการความร่วมมือด้านการปลูกพืชเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจบริเวณชายแดน ผลประโยชน์ที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้รับคือการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ในขณะที่ไทยได้รับวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกโดยอาศัยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ นำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ในทุกๆด้าน นอกจากนี้ ACMECS ยังสนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับเป็นผู้ให้ของไทย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการวางตำแหน่งใหม่ของไทยในเวทีโลกเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น