“สมชัย” มอง เลือกตั้งโอเพ่นลิสต์ - ลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างน้อยต้องอีก 10 ปี แถมต้องใช้งบกว่า 4 - 5 พัน ล. ซื้อเครื่อง พร้อมประชามติตั้งแต่ 10 ม.ค. 59 ไม่มีปัญหาถามประชามติกี่คำถาม แต่รับถามแยะจ่ายแยะ “ประวิช” ชี้ คำถามต้องชัดเจน ปชช. ต้องเข้าใจ
วันนี้ (21 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่จะเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ กับ การลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ ว่า อย่างน้อยคงต้องใช้เวลาอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ กกต. มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สอดรับกับการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ เนื่องจากมีเพียงการให้เลือกตั้งแบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อปกติ ยังไม่มีการเชื่อมโยง ว่า หากเลือกพรรคการเมืองแล้วจะเลือกตัวบุคคลในบัญชีรายชื่อได้อย่างไร ดังนั้น คงต้องใช้เวลาพอสมควร อีกทั้งต้องใช้งบประมาณถึง 4,000 - 5,000 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รองรับการลงคะแนนแบบโอเพ่นลิสต์ โดยคำนวณจากหน่วยเลือกตั้งในประเทศที่มีประมาณ 100,000 หน่วย และแต่ละหน่วยต้องใช้ 4 เครื่อง และเครื่องมีราคาประมาณ 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม อีก 10 ปีข้างหน้า ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังยกร่างฯอยู่นี้ จะปรับแก้อะไรหรือไม่ ส่วนกรณีที่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ระบุว่า อาจต้องมีการประชามติในเดือน ก.พ. นั้นกกต. ยังยืนยันว่า สามารถจัดการลงประชามติได้ภายในวัน 10 ม.ค. 59 เช่นเดิม เพราะได้เตรียมการสำรวจโรงพิมพ์ต่างๆ ไว้หมดแล้ว
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีการตั้งคำถามประชามติ ว่า ที่มีการเสนอว่าควรมีเพียงคำถามเดียว คือ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น กกต. ไม่มีความเห็น ขึ้นอยู่กับ สปช. และ สนช. จะมีมติตั้งคำถามหรือไม่ ในเชิงเทคนิคไม่ว่าจะมีกี่คำถาม กกต. สามารถจัดการได้ เพียงแต่ถ้ามีคำถามเพิ่มขึ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา เช่น 1 คำถาม อาจเสียค่าพิมพ์บัตร 50 ล้านบาท 2 คำถาม ก็ 100 ล้านบาท หาก 3 คำถาม ก็จะใช้เงิน 150 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งยังไม่รวมค่าหีบบัตร และค่าอื่นๆ ที่จะขึ้นตามมาด้วย
ด้าน นายประวิช รัตนเพียร กกต. ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า รูปแบบการทำประชามติมีทั้งคำถามเดียว และหลายคำถาม แต่ไม่ว่าจะมีกี่คำถามประเด็นต้องชัดเจน และประชาชนต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่จะต้องนำมาตอบ เช่น การทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีการสรุปสาระสำคัญให้เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ นอกเหนือจากการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คำถามที่จะเพิ่มมานอกเหนือจากการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ก็ยังไม่ชัดว่าจะมีหรือไม่มี