ผ่าประเด็นร้อน
ชัดเจนกันไปแล้วสำหรับผลการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 7 ประเด็น ทำให้ความหมายก็คือ ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างน้อย 1 - 2 ปี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากไม่เห็นชอบทุกอย่างก็จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ คือ สปช. พ้นสภาพ แล้วมีการตั้งคณะกรรมการยกร่างฯขึ้นมาใหม่ และมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่
เอาเป็นว่าหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในเรื่องดังกล่าวยังไงก็ต้องมีการทำประชามติเกิดขึ้นแน่ เพียงแต่ว่ากระบวนการก่อนที่เดินไปถึงตรงนั้น มันมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และที่สำคัญก็คือต้องใช้เวลา “ไม่น้อย” กว่า 1 - 2 ปี
เป็นเทคนิกทางกฎหมายที่เหมือนปูทางเอาไว้เป็นขั้นเป็นตอน เพียงแต่หมายเหตุเอาไว้ล่วงหน้าว่า “อย่าเพิ่งพูดกันมากในตอนนี้” เท่านั้นเอง และที่ต้องเข้าใจกันก่อน ก็คือ นี่คือ การ “กระชับอำนาจล่วงหน้า” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ามามากขึ้นกว่าเดิม เบ็ดเสร็จกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือผ่านทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งในอนาคตที่ต้องกำหนดผ่านทางการ “ทำประชามติ” ที่จะต้องมีการตั้งคำถาม เพียงแต่ว่าเวลานี้ยัง “อุบ” เอาไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม ในเฉพาะหน้าตอนนี้อยากจะข้ามเรื่องนี้เอาไว้บางส่วนเอาไว้ชั่วคราวก่อน แต่จะให้โฟกัสไปที่แนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล ที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้นในอีกไม่นานข้างหน้า อย่างน้อยหลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเสร็จสิ้น ที่ล่าสุดทางประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุวาระแก้ไขดังกล่าวเอาไว้เป็นเรื่องด่วน ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า
ที่บอกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล ก็คือ ใน 7 ประเด็นที่มีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีเรื่องการแก้ไขเรื่อง “คุณสมบัติต้องห้าม”แทรกเข้ามาด้วย นั่นคือ แก้ไขให้ผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาเป็น “ไม่อยู่ระหว่างถูกตัดสิทธ์ทางการเมือง” นั่นก็เท่ากับว่า เป็นการปลดล็อกพวกบ้านเลขที่ 111 และ บ้านเลขที่ 109 และที่น่าจับตามอง ก็คือ ในจำนวนนั้นมีชื่อของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รวมอยู่ด้วย เพราะที่ผ่านมาด้วยคุณสมบัติต้องห้ามดังกล่าว ทำให้ปิดกั้นเขาไม่ให้เข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งปิดกั้นไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้
ดังนั้น หากมีการปลดล็อกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้มีการจับตากันว่า โอกาสที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะได้รับการแต่งตั้งมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ก็เป็นไปได้สูง และแน่นอนว่า สำหรับเขาก็ต้องมาเป็นระดับ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ซึ่งก็น่าจะเป็นรองนายกฯ รวมไปถึงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ก็นั่นแหละตำแหน่งดังกล่าวมีคนจับจองอยู่แล้ว โดยเฉพาะตำแหน่งรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบัน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นั่งเก้าอี้ตัวนี้อยู่ และที่สำคัญ ทั้งคู่มีอดีตที่เคย “กินใจ” กันมาก่อน
แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามหลีกเลี่ยง ต่างฝ่ายต่างก็พยายามไม่พูดถึงกันมากนัก แต่ก็ถือว่าทั้งคู่คง “ร่วมงานกันยาก” เหมือนอย่างกรณีล่าสุดที่เมื่อนักข่าวสอบถามถึงเรื่องที่โอกาสที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะมาร่วมงานในรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็บอกปัดทันทีว่า “ท่านไม่มาหรอก” หรืออีกคำพูดที่ว่า “งานกำลังไปได้ดีไม่ต้องมีคนมาเพิ่มหรอก” ความหมายก็คือปิดทางไม่ให้เข้ามา
อย่างไรก็ดี ในรัฐบาลคนที่มีอำนาจตัดสินใจ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่จะพิจารณาปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ โดยเฉพาะหากมีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็น “จุดอ่อน” ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาแม้กระทั่ง ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังเพิ่งกล่าวเยาะเย้ยลอยลมมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้วในทำนองว่า “มือไม่ถึง” ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้าน
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาภาพรวมทั้งหมดหลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 7 ประเด็นที่ว่าแล้ว ความหมายก็คือรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องอยู่ยาว อีกไม่น้อยกว่า 1 - 2 ปี หรือมากกว่านั้น เมื่อเป็นแบบนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องถึงเวลาที่จะปรับเปลี่ยนองคาพยพในรัฐบาลเสียใหม่ เพื่อความกระฉับกระเฉง ดังนั้น การแก้ไข “จุดอ่อน” คือ ด้านเศรษฐกิจ แต่ปัญหาก็คือ หากสมคิดมาแล้ว ปรีดิยาธร ต้องไปหรือไม่ นี่สิคือคำถาม !!