xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายป่าฯ ยื่นค้าน พ.ร.บ.ป่าชุมชน-วิศวะจุฬาขอระงับรถไฟหนองคาย-มาบตาพุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตัวแทนเครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาคของประเทศไทย ยื่นหนังสือคัดค้านการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้
เครือข่ายป่าชุมชน 6 ภาค ยื่น กมธ.ปฏิรูปทรัพย์ ค้าน พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับปัจจุบัน ชี้ไม่ให้ประโยชน์ชุมชน ย้อนขับเคลื่อน 20 ปียังไร้ผล ขอระงับร่างก่อน ด้านชมรมวิศวะจุฬาฯ ยื่น “สุรชัย” ยับยั้งโครงการรถไฟสายหนองคาย-มาบตาพุดเชื่อมจีน เหตุยังไม่ผ่านอีไอเอ แถมลงทุนซ้ำซ้อน ไม่สอดคล้องปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน จี้แก้ไข

วันนี้ (11 มิ.ย.) นายเกรียงไกร ชีช่อง เครือข่ายกะเหรี่ยงและสิ่งแวดล้อม และนายจักรพงศ์ ธนารพงศ์ ตัวแทนเครือข่ายติดตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาคของประเทศไทย ยื่นหนังสือคัดค้านการร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้ ต่อนายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เครือข่ายได้ขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลา 10 ปี แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่รัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะนี้ที่อยู่ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีส่วนร่วม แต่ปรากฏว่ากฎหมายเนื้อหาใน พ.ร.บ.ไม่ให้ประโยชน์แก่ชุมชนและนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชน คือ 1. ไม่สะท้อนหัวใจของป่าชุมชนและเรียนรู้จากบทเรียนการจัดการป่าไม้ที่เป็นสากล 2. ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญ 3. ลิดรอนสิทธิชุมชนที่อยู่อาศัยกับป่าและทำป่าชุมชนมาแต่ดั้งเดิม 4. ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชนและกติกากำกับที่ชัดเจน จึงขอประกาศคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับปัจจุบัน

“พ.ร.บ.ตัวนี้นอกจากขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนและประชาชนแล้ว ยังมีหลายประเด็นที่ลดทอนอำนาจชุมชน สิทธิชุมชนที่ช่วยดูแลป่า หมายความว่าจะให้ชุมชนจัดการป่าอย่างเดียวแต่ไม่ให้ใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วม เราเหมือนอำมาตย์ที่เฝ้าปลากระป๋องซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่า แต่ไม่ได้กินปลากระป๋องนั้น ซึ่งทุกครั้งหากมีผลกระทบ เราโดนหนักที่สุด ดังนั้นเราขอความกรุณาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว และระบุต่อว่า ควรที่จะหยุดการเสนอร่างก่อน ไม่เช่นนั้นพี่น้อง 6 ภาคอาจไม่ยอมรับ เพราะต่อสู้มาเกือบ 20 ปี แต่วันนี้ถูกตัดตอนสาระสำคัญประชาชนที่รักษาป่า

นายปราโมทย์กล่าวว่า พ.ร.บ.นี้กำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะรับเรื่องไว้พิจารณาตามเจตนารมณ์

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 รับหนังสือจากชมรมวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายกฤษณ มุทิตานันท์ หัวหน้าคณะทำงานระบบรางรถไฟ เพื่อขอให้ช่วยยับยั้งโครงการทางรถไฟสายหนองคาย-มาบตาพุดเชื่อมต่อกับจีน ที่มีขนาด 1.435 เมตร ของกระทรวงคมนาคม ที่ยังไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และยังเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ไม่สอดคล้องกับทิศทางปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยในขณะนี้ ที่ควรมีความกว้างของทางรถไฟขนาด 1 เมตรตามมาตรฐานอาเซียนซึ่งเป็นขนาดที่มีประสิทธิภาพ เหมาะกับภูมิภาคอาเซียน และใช้งบประมาณลงทุนถูกที่สุด และสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างปลอดภัย จึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุดใหม่จากขนาด 1.435 เป็นขนาด 1 เมตร และตัดขอบเขตการก่อสร้างให้เหลือเพียงเฉพาะส่วนที่ไม่ซ้ำซ้อนเส้นทางคู่ที่มีอยู่เดิม ช่วงกรุงเทพ-บ้านภาชี-แก่งคอย และช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา

ภายหลังการรับหนังสือ นายสุรชัยกล่าวว่าจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา มองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฝ่ายบริหารก็จะได้ส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีและกระทรวงคมนาคม ขณะเดียวกันจะได้ส่งไปยังคณะกรรมาธิการคมนาคมเพื่อศึกษาพิจารณาต่อไป โดยมองว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถือว่ามีความจำเป็นต่อการพัฒนาอนาคตประเทศ







นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจากชมรมวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย











กำลังโหลดความคิดเห็น