xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ปัดแก้ รธน.ชั่วคราว เปิดทาง “สมคิด” - โยน “บิ๊กป้อม” พิจารณา “พุทธะอิสระ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แจงการยกเลิกคุณสมบัติในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้เปิดทางให้ “สมคิด” แต่เพื่อสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “บ้านเลขที่ 111 - 109” เข้ามาได้ แย้มอาจเอาไปไว้ในสภาขับเคลื่อนฯ อีกด้านกระแสปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง อย่าเพิ่งไปคิดว่าจะประชามติเรื่องนี้ เตรียมเรียก กกต.- มหาดไทย - สำนักงบฯ ถกประชามติ อีกด้านโยน “ประวิตร” พิจารณา “พุทธะอิสระ” เคลื่อนไหวขัดมาตรา 44

วันนี้ (10 มิ.ย.) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในประเด็นแก้ไขยกเลิกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากเดิมที่ระบุว่าต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจึงจะเข้าเป็น สนช. หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ ภายหลังมีกระแสข่าวว่าการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. เข้ามารับตำแหน่งใน ครม. ว่า ความจริง 1 ใน 7 ประเด็นที่ได้มีการขอแก้ไขในครั้งนี้ คือ แก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือ ลักษณะต้องห้ามของคนที่เป็น สนช. ซึ่งเราแก้ตรงนี้เพียงจุดเดียว แต่โดยเทคนิคของกฎหมาย คุณสมบัติ หรือ ลักษณะต้องห้ามในส่วนนี้จะนำไปใช้ในกรณีของการเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เช่น รัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือแม้แต่จะเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ ก็สามารถอนุโลมใช้ได้กันหมด ของเดิมนั้นเขียนว่า คนที่จะเป็น สนช. ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง หรือสิทธิเลือกตั้ง ครั้งนี้แก้เป็นว่า ไม่อยู่ระหว่างการถูกเพิกถอน เพราะฉะนั้นถ้าเคยถูกเพิกถอนแต่พ้นกำหนดมาแล้ว ก็จะไม่มีข้อห้ามต่อไป เพราะเมื่อ 6 - 7 เดือน ก่อนที่เขียนไว้ ตอนที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ จึงอาจต้องเขียนห้ามไว้เช่นนั้น แต่เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ได้ห้ามไว้ ครั้งนี้จึงพยายามเขียนให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวได้พยายามแก้อะไรหลายอย่างให้เข้ากับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ เช่น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อน ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีสภาขับเคลื่อนเพื่อจะได้ส่งต่อกันได้” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐธรรมนูญถาวร หรือ ฉบับใหม่ ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง แต่พูดถึงว่า ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ครั้งนี้จึงแก้ให้มันสอดคล้องกัน ส่วนแก้แล้วใครจะได้ประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ก็ไปว่ากันเอง เพราะไม่มีอะไรกำหนดตายตัวสุดท้ายว่าจะต้องตั้งใคร แต่อย่างไรก็ตาม เจตนาข้อหนึ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ก็คือ คนที่จะมาเป็น สนช. หรือ สปช. หรือ สภาขับเคลื่อน ต่อไปก็จะสามารถนำคนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเข้ามาได้ และอาจจะทำให้การปรองดองและการปฏิรูป เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง ส่วนจะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นกันได้ง่ายๆ คุณสมบัติเท่าที่มีอยู่ก็ไม่ได้สามารถเข้ามาเป็นได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นจะเป็นหรือไม่ ตนไม่ทราบ ตนไม่ได้เป็นคนตั้ง

เมื่อถามว่า นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 กับ 109 สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คนที่พ้นกำหนดแล้วเข้ามาได้ แต่ถ้ามีคนที่ยังอยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ์ ก็ยังติดอยู่ไม่สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ เมื่อถามต่อว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยิ่งกว่านายสมคิดก็ยังมีอีกหลายคน ที่จะเข้ามาได้อีกเยอะ อย่างน้อยที่ตนมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนเพราะในส่วนนั้นมีจำนวนถึง 200 คน ที่จะสามารถนำคนเหล่านี้เข้ามาได้ ส่วนใครจะเป็นรัฐมนตรีตนไม่กล้าคิด จะเอาเข้ามาได้อย่างไร เอาเข้ามาแทนใคร หรือเข้ามาทำอะไรตนไม่ทราบ และตัวคนเหล่านั้นอาจจะไม่ยอมมาหรืออยากมาก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้เงื่อนไข คุณสมบัติ และ ลักษณะต้องห้ามในครั้งนี้เป็นการลดแรงกดดันจากฝั่งตรงข้ามหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนคิดว่าอาจจะเพิ่มกระแสกดดันด้วยซ้ำ ก็แล้วแต่จะไปแปลความหมายกัน เพราะความจริงไม่ได้ตั้งใจหรือเกี่ยวข้องอะไรกับกระแสกดดัน ไม่มีใครมากดดัน

“พูดกันตรงๆ เรื่องอื่นก็มีที่กดดัน แต่เรื่องนี้ไม่มีใครมากดดัน ช่วยเลิกทีเถอะ เพื่อให้ใครได้เข้ามาเป็น เรื่องอย่างนี้กดให้ตาย นายกรัฐมนตรีก็ไม่มีวันยอมหรอก สรุปคือมองได้ว่าการแก้ไขเช่นนี้มันไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์ การไปล็อคไว้อย่างเดิมมันมีโทษ เพราะส่วนหนึ่งทำให้ขาดคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน และคนที่มีความสามารถอย่าคิดว่าจะเอาไปเป็นรัฐมนตรี อาจจะไปอยู่ใน สนช. หรือเป็นอะไรได้อีกเยอะ ผมว่ามันก็ไม่เป็นธรรม ที่จะไปร่างห้ามเขาไว้ตลอดชาติ แล้วทำไมไม่คิดอย่างนี้ตั้งแต่แรก ผมยอมรับผิด ตอนนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่จะเดินไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดความสงบสุข” รองนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีการอยู่ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง หากต้องการให้มีประชามติเรื่องดังกล่าวจริง เหตุใดจึงไม่ให้เหตุผลไปตรงๆ เพราะสังคมน่าจะรับได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องอยู่ต่อ จึงไม่สามารถจะพูดตรงๆ หรือพูดอ้อมๆ เอียงๆ เฉียงๆ ได้ คือ อย่าเพิ่งไปคิด ว่าการที่เราเปิดทางให้ทำประชามติ ถามในเรื่องอื่นได้แล้วจะนำไปสู่เรื่องดังกล่าว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าก็นำไปสู่เรื่องนั้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำไปสู่เรื่องนั้น ซึ่งอาจจะมีบางเรื่องหรือหลายเรื่องที่น่าถาม แต่ในวันนี้ ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรให้ถาม แต่หลังจากนั้น อาจจะมีอะไรให้ถามอาจจะมีโจทย์ที่คิดว่าสังคมต้องการคำตอบ ก็สามารถทำได้ เพราะถ้าไม่เขียนไว้ก่อนในวันนี้ ถึงเวลามันก็จะทำไม่ได้ หรืออาจจะทำได้ก็จะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญอีกซึ่งก็อาจไม่ทันการณ์

“วันนี้ก็ไม่ได้พูดโกหกหรือพูดอะไรในทำนองปากไม่ตรงกับใจ เพราะยังไม่มีอยู่ในความคิด นายกฯ ก็พูดอยู่ตลอดว่าอย่าไปยุ่งกับเขา จะทำอะไรก็ทำ เพราะท่านมีคำตอบวิถีชีวิตของตัวท่านเองอยู่แล้ว” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีการออกมาล่ารายชื่อเพื่อทำประชามติต่ออายุรัฐบาล ของพระพุทธะอิสระ ถือว่าขัดคำสั่งที่ 3 ของมาตรา 44 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น อย่าว่าแต่พระพุทธะอิสระเลย แม้แต่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรที่คนในรัฐบาลต้องไปตอบ หรือ ตั้งข้อสังเกตอะไร ส่วนจะขัดคำสั่งที่ 3 หรือไม่ ตนไม่ทราบ ต้องไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ เพื่อจะนำไปสู่การทำประชามติครั้งที่ 2 แล้วหากประชามติในครั้งที่ 2 ไม่ผ่าน จะทำอย่างไร ซึ่งยังไม่ได้เขียนไว้ในเวลานี้ เพราะก็ไม่ได้คิดล่วงหน้าเป็นปีว่ากรณีนี้จะเกิด แต่หากจำเป็นต้องเกิด มันก็มีทางออก ซึ่งอาจจะต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง คงไม่กลับมาใช้กระบวนการอย่างเก่า คือ ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน คงไม่เอาอย่างนั้น อะไรก็ตามที่มันเร็วขึ้น ซึ่งก็ต้องทำในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งตนได้ยกตัวอย่างว่าอาจนำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแล้วประกาศใช้

เมื่อถามว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวใน 7 ประเด็นได้ส่งไปยัง สนช. แล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ณ เวลานี้ยัง แต่หากไม่ทันภายในวันนี้ ก็อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้เช้า เมื่อถามต่อว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทุกกระทรวงรวบรวมงานเพื่อส่งต่อภายในเดือนเมษายน 2559 นั้น มีเหตุผลอะไร นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคงคาดการณ์ไว้เช่นนี้ว่าสมมติมีการทำประชามติในเดือนมกราคม 2559 เสร็จ โอกาสที่จะเกิดความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้ง มันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2559 แต่มันจะมีความชัดเจน จึงจำเป็นต้องส่งงานทั้งหมดเพื่อจะดำเนินการส่งต่อให้กับรัฐบาลใหม่

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันทำประชามติ คือ วันที่ 10 มกราคม 2559 ว่า ตนตั้งใจว่าจะเชิญมาหารือ ทั้ง กกต. กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ เพื่อหารือเรื่องประชามติ โดยไม่ได้เป็นการแทรกแซง เพียงแต่จะสอบถามว่า กกต. มีอะไรให้รัฐบาลช่วยบ้าง หรือจะได้สอบถามไปถึงกระทรวงมหาดไทยว่าผู้มีสิทธิออกเสียงทำประชามติมีจำนวนเท่าใด กี่ครัวเรือนกันแน่ ส่วนสำนักงบประมาณก็อาจจะสอบถามถึงงบประมาณว่ามีความพร้อมอย่างไร ซึ่งตนจะหารือก่อนจะรายงานไปยัง ครม.


กำลังโหลดความคิดเห็น