ประธานผู้ตรวจฯ เผยหน่วยเกี่ยวข้องเข้าแจงปัญหาจราจร กทม.แล้ว รับมีปัญหาหลากหลาย ก่อนแนะทางแก้ชง คสช.-รบ.ตั้งซูเปอร์บอร์ดสั่งการ แก้ความไม่ชัดเจนการตัดสินใจ ทำหลายโครงการสะดุด จัดอาสาจราจร ช่วยดูแล คุมค่าโดยสารวินมอเตอร์ไซค์ เร่งพัฒนาเส้นทางเดินรถ เพิ่มทางเดินเรือ
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยถึงการประชุม ติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดจราจรและขนส่งเข้าร่วมเพื่อชี้แจงปัญหาอุปสรรค พร้อมทั้งหารือและร่วมกันหาทางออกซึ่งพบว่า ปัญหาหลักของสภาวะการจราจรและระบการขนส่งมวลชนนั้นมีหลากหลายมิติมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณการจราจร การบริหารจัดการ การเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆ ตลอดจนปัญหาวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ พร้อมทั้งเตรียมส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ประกอบด้วย
1. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการคมนาคมในระดับสูง (Super Board)หลังพบว่าหน่วยงานมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในการตัดสินใจดำเนินโครงการในระดับนโยบาย เป็นเหตุให้โครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหลายโครงการไม่มีข้อสรุป หรือต้องชะลอการดำเนินโครงการ หรือต้องทำการศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจหลายครั้ง ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก อาทิ โครงการก่อสร้างทางพิเศษขั้นที่ 3 สายเหนือของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างระหว่างการสร้างทางพิเศษ หรือระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล หรือโครงการก่อสร้างสะพานเกียกกายของกรุงเทพมหานคร ที่ยังขาดความชัดเจนว่าจะก่อสร้างหรือไม่ อีกทั้งการที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการของรัฐต่างๆ มีความชัดเจนในเชิงนโยบาย
2. จัดตั้งอาสาจราจร เพื่อลดปัญหาเรื่องวินัยการจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปัญหาการจราจรทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการต่างๆ ในการกวดขัน ตรวจตรา และจับกุมมาโดยตลอด แต่ยังพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายการจราจรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดตั้งกลุ่มอาสาจราจรขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยกันสอดส่องดูแล และรายงานพฤติกรรมการขับขี่ยวดยานที่ไม่เหมาะสม หรือฝ่าฝืนกฎหมายจราจรด้วยเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วจะช่วยลดภาระและลดการทำความผิดได้
3. ควรควบคุมอัตราค่าโดยสารจักรยานยนต์รับจ้าง เสนอให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาสำรวจ กำหนด และควบคุมอัตราค่าโดยสารของรถจักรยานยนต์รับจ้างให้เป็นมาตรฐาน เหมาะสม เป็นธรรม และเสมอกันในแต่ละจุดบริการ ตลอดจนควบคุมการเรียกเก็บค่าโดยสารของผู้ขับขี่อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ เพราะปัจจุบันอัตราค่าโดยสารของรถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นไปตามฝ่ายของผู้ขับขี่กำหนดจึงเกิดปัญหาข้อร้องเรียนอย่างต่อเนื่องว่ามีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่แพงมากกว่าปกติโดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วนหรือในช่วงเวลาที่มีความต้องการเดินทางสูง เช่น ช่วงก่อนวันหยุดต่อเนื่อง
4. เร่งสำรวจและพัฒนาเส้นทางการบริหารจัดการจราจรและการเดินรถ โดยให้ กทม.เร่งทำการสำรวจและหาทางเชื่อมต่อถนนซอย เส้นทางลัดตามซอยต่างๆ เพิ่มเติม หรืออาจพิจารณาถึงการเวนคืนพื้นที่บางส่วนตามความจำเป็นเพื่อใช้ในการพัฒนาซอยบางสายที่มีศักยภาพในการเชื่อมต่อกับถนนสายหลัก เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดเพิ่มเติม ผลดีคือช่วยย่นระยะเดินทางแล้วยังช่วยแก้ปัญหารถติด ลดปริมาณรถยนต์บนถนนสายหลัก พร้อมเร่งรัดทำการประชาสัมพันธ์แจกจ่ายคู่มือและแผนที่การใช้เส้นทางลัดพร้อมแผนที่ในรูปแบบต่างๆ ให้ประชาชนผู้ใช้รถได้รับทราบเส้นทางลัดอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกด้วยการติดตั้งป้ายบอกทางในแต่ละเส้นทาง
5. สำรวจเส้นทางการเดินเรือโดยสารในคลองเพิ่มเติม ในการพัฒนาเป็นเส้นทางเดินเรือโดยสารเพิ่ม เนื่องจากการเดินเรือในปัจจุบันได้รับความนิยมจากประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการสัญจรแบบเชื่อมต่อ แต่ยังจำกัดอยู่เพียงสองเส้นทางหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และคลองแสนแสบ