xs
xsm
sm
md
lg

“สุรินทร์” รับ UNSC หวังถก 17 ชาติ มีมาตรการปกป้องสิทธิโรฮีนจา ย้ำต้องแก้ต้นตอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แฟ้มภาพ)
อดีตเลขาธิการอาเซียน เผย UNSC มองไทยประชุม 17 ชาติแก้โรฮีนจา ความริเริ่มที่ดี หวังมีมาตรการปกป้องสิทธิกลุ่มดังกล่าว ย้ำต้องแก้ที่ต้นตอ ไทยทำหน้าที่ดีแล้ว เชื่อต่างประเทศหวังเวทีนี้ช่วยผลักดันความร่วมมือ พร้อมวางมาตรการช่วยสั้น-กลาง-ยาว ชี้ไม่ควรนำความหลากหลายเป็นปัจจัยแตกแยก

วันนี้ (29 พ.ค.) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) กล่าวถึงการประชุมเรื่องการอพยพถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียที่มี 17 ประเทศเข้าร่วม ที่จะมีการหารือถึงการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพวันนี้ว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาทราบว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้หารือถึงการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพในวันนี้ว่าเป็นความริเริ่มที่ดี และหวังว่าจะมีมาตรการและวิธีการในการปกป้องสิทธิ สวัสดิภาพ สวัสดิการของกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็มีข้อสังเกตชัดว่าหากไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ คนเหล่านี้ต้องอยู่ในภูมิภาค และอยู่ในทะเลต่อไป

“ประเทศไทยได้พยายามทำหน้าที่ของตนเองในฐานะสมาชิกประชาคมระหว่างประเทศ และสหประชาชาติอย่างดีแล้ว ส่วนที่ต้องทำร่วมกับคนอื่นคือ จะช่วยโน้มน้าวให้ประเทศที่เป็นเจ้าของปัญหาปรับนโยบายเรื่องสัญชาติและสิทธิในการได้สัญชาติอย่างไร ถือเป็นเรื่องยากและอ่อนไหว แต่เฉพาะหน้าที่ต้องทำ คือ การรักษา ช่วยชีวิตปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านั้น เพราะเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ”

นายสุรินทร์ยังเชื่อว่า ประชาคมระหว่างประเทศต้องการเห็นเวทีการประชุมวันนี้ช่วยผลักดันความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วในระดับรัฐมนตรีเพื่อให้มีการวางมาตรการในการช่วยเหลือ โดยมาตรการระยะสั้น คือ การให้หลักประกันว่าชีวิตจะไม่สูญเสียสวัสดิการ สวัสดิภาพ จะได้รับการดูแล ส่วนมาตรการระยะกลาง ประชาคมโลกต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อกลุ่มคนเหล่านี้ที่ถือเป็นคนพลัดถิ่นภายในประเทศเองซึ่งอาเซียนต้องไปช่วยเหลือ โน้มน้าวให้มีการดูแลสวัสดิภาพ สวัสดิการของคนเหล่านี้ เพื่อลดความกดดันไม่ให้ต้องออกมาสู่ทะเล ส่วนระยะยาวต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ปรับนโยบายด้านสัญชาติของคนเหล่านี้ เพราะถ้าอยู่ในฐานะคนไร้รัฐจะเป็นปัจจัยสร้างความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในทะเลหลวง ช่องแคบมะละกา หากคนเหล่านี้ใช้ความรุนแรงจะเป็นปัญหาสำหรับประชาคมโลก

อดีตเลขาธิการอาเซียนยังมองว่า การรับมือกับความหลากหลายของชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในช่วงจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ต้องเคารพและให้เกียรติในความหลากหลาย เพราะอาเซียนมีความหลากหลายมากทั้งเรื่องการเมือง การปกครอง ศาสนา เผ่าพันธุ์ จึงไม่ควรนำความหลากหลายที่มีอยู่ไปเป็นปัจจัยความแตกแยก ขัดแย้ง แต่ต้องเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นและความแข็งแรงในการเตรียมตัวเป็นประชาคมอาเซียน


กำลังโหลดความคิดเห็น