“ประยุทธ์” ย้ำให้ประชาชนเข้าใจฝนน้อย เจอภัยแล้ง ต้องบริหารจัดการน้ำ ขอช่วยกักน้ำใช้ รับรัฐช่วยไม่ทั่วถึง แนะปลูกพืชให้ปรึกษาภาครัฐก่อนเหมาะหรือไม่ ขอให้เข้าใจเกษตรสมัยใหม่ไม่พึ่งฝนอย่างเดียว พร้อมออก พ.ร.บ.เช่าที่นา ย้ำมี คกก.ลดค่าผลิต สร้างห่วงโซ่สังคมพึ่งพา “ไก่อู” เผยนายกฯ สั่งเร่งผลิตไกด์มีคุณภาพ รองรับท่องเที่ยว มอบ ก.วัฒนธรรม - “วิษณุ” ดูร่าง พ.ร.บ.ดูแลศิลปิน
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงว่า สำคัญวันนี้ต้องการให้ประชาชนเข้าใจถึงสภาพลมฟ้าอากาศประจำปีนี้ โดยฤดูฝนนี้เราจะมีฝนลดน้อยลงอาจตกไม่ทั่วถึงและอาจจะมีปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการเตรียมการปลูกพืชในฤดูการใหม่ ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และในแหล่งน้ำขนาดใหญ่มีประมาณไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องบริหารจัดการน้ำที่มีอยูให้ได้ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปา การดูแลเรื่องของผลผลิตด้านการเกษตร รวมทั้งดูแลเรื่องของการผลักดันน้ำเค็มด้วย ดังนั้นในปีนี้ขอให้ทุกคนระมัดระวัง
“ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยรัฐขุดหรือทำที่กักเก็บน้ำที่บ้านเพื่อเอาไว้ใช้จะทำขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพราะการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่อาจไปได้ทั่วถึงทุกที่ ยิ่งถ้าต้องใช้พลังงานไฟฟ้ายิ่งลำบาก เพราะถ้าไม่เตรียมการตั้งแต่วันนี้จะมีปัญหาในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เกษตรกรจะเพาะปลูกพืชอะไรขอให้ปรึกษาหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหารือกับทางศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทยด้วยว่ามีความเหมาะสมที่จะปลูกหรือไม่ และถ้าปลูกแล้วหากเกิดความเสียหายจะทำอย่างไร เพราะรัฐเองไม่สามารถที่จะอุดหนุนได้มากนัก จึงขอให้เกษตรกรเข้าใจถึงสภาวการณ์ในปัจจุบัน เรียกว่าเป็นการทำงานของเกษตรสมัยใหม่ ไม่ใช่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ต้องนำความรู้ เทคโนโลยีและความรู้ต่างๆ มาใช้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำได้นอกเหนือจากการหาแหล่งน้ำเท่าที่ทำได้ และการจัดทำฝนหลวงให้มากขึ้นซึ่งก็ต้องอาศัยเมฆจำนวนมาก คือ เรื่องการออก พ.ร.บ.การเช่าที่นา ที่ได้สั่งการอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เช่า โดยเจ้าของนากับผู้เช่านาจะต้องมีสัญญา เพื่อจะได้ทราบถึงตัวเลขที่แท้จริงที่จะไปลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการทำการเกษตร เป็นความพยายามลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ที่นาในและนอกเขตชลประทานควรจะต้องต่างกัน และต้องชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของนาที่แท้จริง เพื่อแก้ปัญหาทับซ้อนของข้อมูล ตนได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ และมหาดไทยสำรวจข้อมูลให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็ว ถือเป็นเรื่องการปฏิรูปอะไรที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วน จะต้องเร่งปฏิรูปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน
“รวมทั้งการจัดหารถไถก็กำลังดำเนินการในระยะแรกซึ่งจะพยายามหาให้ทัน ก็อาจจะไปอยู่ที่ทหารก่อน ทหารก็จะเป็นคนควบคุมที่ในการไถ และการใช้เครื่องมือเครื่องจักร จะได้ลดราคาค่าเช่าเครื่องจักรในการไถและเก็บเกี่ยว ซึ่งจะต้องสอดคล้องตามที่ได้สั่งการไว้ก่อนหน้านี้ว่านาพื้นที่ไม่มาก 5-10 ไร่ เป็นเบี้ยหัวแตก ต้องไปรวมเป็นสหกรณ์นาให้ได้สัก 100 ไร่จะไปไถในราคาเดียวกันได้ ถือเป็นการคิดทั้งระบบเป็นการปฏิรูป ถ้ามัวแต่คิดแบบเดิมตามยอดที่มีมา ตามข้อมูลเดิม พอขาดเหลือก็เจือจานด้วยการจำนำบ้าง ประกันบ้าง มันก็หายไปเฉยๆ มีการนำไปใช้อย่างอื่นด้วย ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว จึงขอชี้แจงให้เกษตรกรทุกคนเข้าใจว่ารัฐบาลทำทั้งหมด ข้าว ยางพารา ปาล์ม อ้อย สับปะรดซึ่งทุกอย่างมีคณะกรรมการดูแลทั้งหมด และผมเป็นผู้คุมนโยบายทั้งหมดในทุกกลุ่มการเกษตร เน้นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก สร้างห่วงโซ่ทางคุณค่าว่าทำอย่างไรบริษัทใหญ่ๆจะเข้าไปซื้อตรงจากเกษตรกรแล้วนำไปเพิ่มมูลค่า จากนั้นก็ไปทำสัญญากับประเทศต่างๆ เศรษฐกิจในภาพรวมก็จะเดินหน้า สร้างห่วงโซ่เป็นสังคมพึ่งพาอาศัยกัน ที่สำคัญต้องลดค่าใช้จ่ายทางการผลิต” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลัง ครม.ว่า เนื่องจากการท่องเที่ยวกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาปัญหาในเรื่องของมัคคเทศน์หรือไกด์ ที่มีจำนวนไม่พอหรือขาดประสิทธิภาพนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เร่งรัดให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผลิตมัคคุเทศก์ให้เพียงพอและมีคุณภาพ มีความรอบรู้ในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว ภาษาต่างประเทศ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า จุดขายของประเทศไทยมีมากมาย โดยเฉพาะในท้องถิ่น โบราณสถาน ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีความหลากหลาย เป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยว จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมมัคคุเทศก์ให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว นอกจากนี้ จากการที่กระแสโซเชียลมีการแสดงความคิดเห็นโจมตีนักท่องเที่ยวบางประเทศที่มีวิธีการปฏิบัติตัวขัดต่อธรรมเนียมของวัฒนธรรมไทย ในส่วนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า เราจะไปปรับเขาไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัวเอง และควรที่จะให้ความรู้ที่เป็นคู่มือแจกจ่ายกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นทาง ให้รับรู้ว่าประเพณี วัฒนธรรมของเราเป็นอย่างไร เพื่อลดความขัดแย้ง สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้นักท่องเที่ยวลดจำนวนลงให้ป้องกันทุกวิถีทาง โดยรวมไปถึงความสะอาดของห้องน้ำตามที่ต่างๆ เช่น สถานีขนส่ง ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสุ่มตรวจ
“นายกฯ บอกว่าเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต้องคำนึงทั้งระบบ อาจจะต้องมีอาสาสมัครท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเสริมงานของตำรวจท่องเที่ยว และจะมีการจัดสรรปันส่วนเงินที่เกิดจากธุรกิจท่องเที่ยวไปดูแลอาสาสมัครท่องเที่ยวในแต่ละท่องถิ่นด้วย” พล.ต.สรรเสริญกล่าว
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ไปร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สำหรับศิลปิน โดยนายกฯ รู้สึกประทับใจในศิลปินแห่งชาติ หรือศิลปินที่ได้รับรางวัลต่างๆ ซึ่งอาจมีสมาคมที่ดูแลอยู่แล้วพอสมควร แต่ในส่วนของรัฐบาลควรมีส่วนดูแลบุคคลากรทั้งหลายเหล่านี้ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณค่าของประเทศ จะต้องมีเงินสมทบสำหรับดูแล จึงให้ไปยกร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับศิลปินขึ้นมา