xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ นัด 2-7 มิ.ย.แจงแก้ รธน. ยันเหตุผลดีพร้อมฟัง 23 ก.ค.ชงร่าง สปช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“เลิศรัตน์” แถลงผลประชุม กมธ.ยกร่างฯ หลังสิ้นการส่งคำแนะแก้รัฐธรรมนูญรวม 9 คำขอ สปช.8 ครม.1 พร้อมนัดแจง 2-7 มิ.ย. รับยื่นกันแยะจึงให้แจงเฉพาะตามกฎหมายกำหนด ยันให้ความสำคัญเท่าเทียม ชี้มีเหตุผลดีกว่าร่างแรกพร้อมแก้ หากเกิดประโยชน์ แจงขอแก้หลายมาตราไม่เกินวิสัยที่จะพิจารณา คาดส่งร่างที่แก้แล้วถึง สปช.23 ก.ค. ลงมติ 6 ส.ค.

วันนี้ (26 พ.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกแรกหลังสิ้นสุดกรอบเวลาการรับคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช. และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาคำขอแก้ไขทั้งหมดในเบื้องต้นซึ่งมีทั้งสิ้น 9 คำขอ โดยแบ่งเป็นของ สปช.8 คำขอ และครม.1 คำขอ โดยเห็นว่าเนื้อหาคำขอแก้ไขมีมากพอสมควร จึงได้มีการกำหนดให้ยื่นคำขอเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯตั้งแต่วันที่ 2-7 มิ.ย. โดยกำหนดจำนวนผู้ชี้แจงกลุ่มละไม่เกิน 5 คน กำหนดเวลา 3 ชั่วโมงต่อกลุ่ม เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. วันอังคารที่ 2 มิ.ย.จะเป็นกลุ่มของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป และกลุ่มของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ วันที่ 3 มิ.ย.กลุ่มของนายมนูญ ศิริวรรณ และกลุ่มของนายสมชัย ฤชุพันธุ์ วันที่ 4 มิ.ย. กลุ่มของนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ วันที่ 5 มิ.ย. กลุ่มของนายประสาร มฤคพิทักษ์ และนายพงศ์โพยม วาศภูติ และวันที่ 6 มิ.ย. กลุ่มของคณะรัฐมนตรี โดยนายวิษณุ เครืองาม

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เดิมคณะกรรมาธิการยกร่างฯมีแนวความคิดที่จะให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ป.ป.ช., กกต. และพรรคการเมืองมาชี้แจงแต่เมื่อเห็นว่ามีผู้ยื่นคำขอจำนวนมาก และพรรคการเมือง รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ รวมถึงศาล ก็ได้ยื่นเอกสารคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว กรรมาธิการฯจึงได้จำกัดการมาชี้แจงเฉพาะผู้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นคำขอแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นว่าหากเชิญองค์กรนั้นแล้วเหตุใดจึงไม่เชิญองค์กรนี้มา และหากเชิญอาจจะเกินกรอบเวลาได้

“ยืนยันว่าทุกคำขอของทุกหน่วยงาน กรรมาธิการฯ ให้น้ำหนักและความสำคัญเท่าเทียมกัน โดยจะพิจารณาถึงเหตุผลในการขอแก้ว่ามีความสอดคล้อง หรือดีกว่า เหตุผลของการยกร่างรัฐธรรมนูญในร่างแรกหรือไม่อย่างไร หากมีเหตุผลที่ดีกว่า น่ารับฟังเราก็พร้อมที่จะแก้ไข เพราะหลักการพิจารณาคือต้องการให้ทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกิดประโยชน์และสมเจตนารมณ์ของการยกร่าง อีกทั้งค่อนข้างแน่นอนว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำไปสู่การทำประชามติ ดังนั้นไม่มีประโยชน์ อะไรที่ไปดึงดันไม่แก้ไข หากสิ่งที่ขอให้แก้นั้นเกิดประโยชน์”

เมื่อถามว่าทั้ง สปช.และครม.ขอแก้ไขหลายร้อยมาตรา จะมีผลกระทบต่อภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า บางครั้งในการแก้ไข หากแก้คำคำหนึ่งก็ไปกระทบหลายมาตรา เช่น แก้ “พลเมือง” ให้เป็น “ประชาชน” เหมือนเดิม ก็ต้องแก้ในมาตราอื่นๆ ที่มีคำว่าพลเมืองอยู่ให้เป็นประชาชน แต่กรรมาธิการฯ ทำงานมากว่า 6 เดือนแล้ว เข้าใจและทราบดีว่าแต่ละบทบัญญัติมีการผูกโยงกันอย่างไร ในข้อเท็จจริงอาจจะโยงกันเพียงบางส่วน แต่บางมาตราก็เป็นเอกเทศ ดังนั้นคำขอแก้ไขมากก็ไม่ได้เกินวิสัยที่กรรมาธิการฯ จะพิจารณาได้

โฆษกรรมาธิการฯ ยังกล่าวด้วยว่า หลังการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มทั้ง 9 กลุ่มแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. กรรมาธิการจะมีระยะเวลา 40 วันในการประชุมพิจารณาคำขอต่างๆ ก็ได้มีการกำหนดเบื้องต้นว่าจะไปประชุมที่สวนสน ประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 22 มิ.ย.ถึง 3 ก.ค. โดยจะเป็นการประชุมภายในแต่จะมีการแถลงให้สื่อทราบเป็นระยะ และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง กรรมาธิการยกร่างฯ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการแก้ไขแล้วให้สปช.ในวันที่ 23 ก.ค. ซึ่ง สปช.จะมีเวลา 15 วันในการพิจารณาและมีมติเห็นด้วยหรือไม่ภายในวันที่ 6 ส.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น