xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรม 7-11 ปลูกฝังลัทธิบริโภคนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่านไปแล้ว การรณรงค์ต่อต้านร้านสะดวกซื้อ 7-11 ด้วยการไม่ซื้อสินค้าร้าน 7 -11 เป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 – 11 พฤษภาคม เพื่อตอบโต้พฤติกรรมผูกขาด เอารัดเอาเปรียบซัปพลายเออร์ แข่งขันแย่งลูกค้ากับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างไม่เป็นธรรม

การรณรงค์นี้ ไม่ปราฏว่าใคร หรือองค์กรใดเป็นตัวตั้งตัวตี มีเพียงประกาศเชิญชวนไปแปะไว้ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีคนมาแชร์ต่อๆ กันไป และมีองค์กรภาคประชาสังคม อย่างเช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคมายืนข้างสนามออกแถลงการณ์สนับสนุน

ผู้บริหารบริษัทซีพี ออลล์ ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ 7-11 ให้สัมภาษณ์ว่า การรณรงค์นี้ทำให้ยอดขายลดลงบ้าง แต่ตัวเลขชัดเจน ต้องรอผลประกอบการปลายปี

เป็นท่าทีที่ระมัดระวังอย่างที่สุด คงเกรงว่า หากตอบว่าไม่มีผลกระทบต่อยอดขายเลย จะเป็นการท้าทายยั่วยุ ซึ่งไม่เป็นผลดีในแง่ภาพลักษณ์องค์กร

ความจริงที่ต้องยอมรับกันคือ การต่อต้าน 7-11 นั้น มีอยู่แต่ในโซเชียลมีเดีย ส่งกันไป แชร์กันมา จนสร้างความรู้สึกว่า มีกระแสต่อต้านที่รุนแรง แต่ที่ร้าน 7-11 ทุกแห่ง กิจการยังเป็นปกติ บางแห่งมีลูกค้าน้อยลงบ้าง ก็เป็นเพราะมหาวิทยาลัยปิดเทอม นักศึกษาซึ่งเป็นลูกค้าประจำส่วนหนึ่งกลับบ้าน

ร้านสะดวกซื้อ 7-11 กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนใหญ่ไปแล้ว ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมไปทุกย่านชุมชน ทั่วประเทศ เปิดทำการ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งที่จำเป็น และไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อย่างครบครัน

ลึกลงไปกว่านั้นคือ การไปร้านเซเว่น กลายเป็นนิสัยของคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆ ไม่รู้จะไปไหน อยู่ว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ก็เข้าเซเว่น เมื่อเข้าไปแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะต้องซื้ออะไรสักอย่าง ติดไม้ต่อมือ ส่วนมากคือ ขนมขบเคี้ยว น้ำหวานแต่งกลิ่น ปรุงรส ใส่สี ซึ่งร้านเซเว่นใช้กลยุทธตั้งราคาให้ถูก เพื่อให้ผู้ที่เดินเข้าร้านมา ตัดสินใจซื้อโดยง่าย แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นเลย


วัฒนธรรมเซเว่น หรือวัฒนธรรมสะดวกซื้อ ซึ่งหมายรวมถึง ร้านสะดวกซื้อ ยีห้ออื่นๆ ด้วย ได้แทรกซึมอยู่ในสายเลือดของคนไทยจำนวนมากไปแล้ว เพราะสอดคล้องกับอุปนิสัยรักความสะดวกสบาย เนื่องจาก “ไม่มีเวลา” และอุปนิสัย ชอบซื้อ

นี่คือ สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้การต่อต้านร้าน 7-11 มีอยู่แต่ในโซเชียลมีเดียเท่านั้น โดยไม่ได้ส่งผลกระเทือนในชีวิตจริงแต่อย่างไรเลย

ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 และแฟรนไชส์ร้านค้าปลีกอื่นๆ โดยหลักการแล้ว เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ต่อผู้บริโภค ในเรื่องความสะดวก สบาย และคุณภาพของสินค้า แต่ในขณะเดียวกัน การแสวงหากำไรสูงสุด โดยการขยายตัวอย่างกว้างขวางไปทั่วทุกหัวระแหงของร้าน 7-11 และขายสินค้าบริการที่เห็นว่าขายได้กำไรดีทุกอย่างนั้น เป็นการเบียดเบียน ตัดช่องทางทำมาหากินของพ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยอย่างไม่เป็นธรรม

ข้อโต้แย้งที่ว่า ใครใคร่ค้า ค้า ร้านโชห่วย หาบ เร่ แผงลอย รถเข็น ต้องรู้จักปรับตัว พัฒนาตัวเองให้อยู่รอด แข่งขันกับเซเว่นได้ เป็นเหตุผลที่มองข้ามความจริงที่ว่า ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ กับร้านโชห่วยนั้น เป็นมวยคนละรุ่น ไม่มีทางที่เทียบกันได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน ระบบการจัดการ ลอจิสติกส์ อำนาจต่อรองกับซัปพลายเออร์ อาจจะแข่งกันได้ในระยะแรกๆ แต่จะยืนอยู่ได้นานสักเพียงใด

เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้อง ดูแล ผู้ที่อ่อนแอกว่า ควบคุม สร้างกติกา คุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ให้ถูกบดขยี้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ที่มีความเหนือกว่าในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่ปล่อยให้เปิดร้าน 7-11 ได้อย่างเสรี และขายสินค้าทุกอย่างได้ตามใจชอบ อย่างที่เป็นอยู่

แต่เรื่องนี้ คงเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล เพราะซีพี ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ 7-11 นั้น ยิ่งใหญ่ และมีพระคุณกับผู้มิอำนาจทุกๆ วงการ ภายใต้แนวนโยบาย “อยากได้อะไร ก็บอกมา”


กำลังโหลดความคิดเห็น