xs
xsm
sm
md
lg

วิป สปช.หนุนลงประชามติทั้งฉบับ ชี้ต้องให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหา-โปร่งใสยอมรับได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมวิป สปช.เห็นด้วยกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายหลัง สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว โดยต้องทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในสาระและเนื้อหาก่อน และหน่วยงานที่จัดต้องโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับได้ คาดเริ่มยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลัง 6 ส.ค.

วันนี้ (13 ธ.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงภายหลังการประชุมวิป สปช. ว่าเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างวิป สปช.ประธานกรรมาธิการ 18 คณะ และคณะกรรมาธิการกระบวนการอีก 5 คณะ เพื่อหารือถึงเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า 1. เห็นด้วยกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2. การออกเสียงประชามติดังกล่าวควรเป็นการลงประชามติทั้งฉบับภายหลัง สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว 3. กระบวนการออกเสียงประชามติต้องรอบคอบ รอบรู้ และต้องทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในสาระและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติ โดย สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเป็น 2 หน่วยงานสำคัญในการให้ความรู้กับประชาชน และ 4. หน่วยงานที่จะมาดำเนินการต้องวางกติกาและกฎเกณฑ์ให้โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีการยกตัวอย่างด้วย เช่น แนวทางการออกเสียงประชามตินั้นควรจะต้องมีระยะเวลาให้ประชาชนได้ศึกษาก่อนไม่น้อยกว่า 90 วัน หรือทำเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญกว่า 40 ล้านฉบับ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาก่อนลงเสียงประชามติ โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมในวันจันทร์ถึงวันพุธ ในวาระปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แต่จะยังไม่กำหนดว่าจะมีการหารือผลการประชุมในวันนี้ในที่ประชุม สปช.ด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประธาน สปช.ที่จะเป็นผู้กำหนดเวลาในการบรรจุในระเบียบวาระ

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ในส่วนของการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะดำเนินการยกร่างได้หลังวันที่ 6 ส.ค. 2558 โดยจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และ 2. กฎหมายปฏิรูป โดยในส่วนของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น จะดำเนินการหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบแล้ว ขณะที่กฎหมายปฏิรูปนั้น อาจจะมีการแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องของการจัดทำกฎหมายปฏิรูป โดยอาจจะเพิ่มในบทเฉพาะกาลรวมถึงในบางหมวดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้เนื้อหาในภาค 4 เรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองของรัฐธรรมนูญนั้นสั้นลงด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น