xs
xsm
sm
md
lg

ตามดูงบประมาณ รัฐจัดให้ “นักปั่นจักรยาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตามดูงบประมาณ รัฐจัดให้ “นักปั่นจักรยาน” สร้างถนน สร้างเลนพิเศษ หลายพื้นที่ ทั้ง กทม.และภูมิภาค พบ กทม.มีโครงการ-พื้นที่-ถนน สำหรับนักปั่นเพียบ ทั้งปัจจุบัน และในอนาคต เผย ก.ท่องเที่ยว-คมนาคม อนุมัติให้หลายจังหวัด ทำถนนพิเศษให้ “ชาวจักรยาน” หลายพันล้าน

จากกรณีที่กลุ่มผู้ใช้จักรยานในประเทศไทยเดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความปลอดภัยในการใช้ถนนพร้อมทั้งขอความยุติธรรมให้ผู้สูญเสียสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดัง หลับในขับรถพุ่งชนกลุ่มนักปั่นจักรยานเมืองเชียงใหม่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านบางกอก-บูเลอวาร์ด ถนนรามอินทรา ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 2 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เรื่องดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้ใช้จักรยานและครอบครัวเป็นอย่างมาก ทางกลุ่มผู้ใช้จักรยานฯ และเครือข่ายจึงมีความเห็นว่ากระทรวงมหาดไทยน่าจะมีบทบาทเป็นผู้นำในครั้งนี้ โดยให้กลไกจังหวัดร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงหน่วยเกี่ยวข้องหามาตรการร่วมกันเพื่อให้การใช้จักรยานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และขอสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

“ทางกลุ่มขอยื่นข้อเสนอเบื้องต้นถึง พล.อ.อนุพงษ์ ในการประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีการตรวจตรา จับกุม ลงโทษเมาแล้วขับ โดยเฉพาะยามวิกาล สถานประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมาที่เปิดเกินเวลา ผู้ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ ผู้ขัยขี่ยานพาหนะบนไหล่ทาง ดำเนินคดีต่อผู้ก่อเหตุชนรถจักรยานอย่างเคร่งครัด จัดให้มีการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือสูญเสียอย่างเต็มที่ จัดให้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจดบันทึกสถิติข้อมูล เพื่อรายงานและแจ้งผล เผยแพร่ต่อสาธารณชนทุกเดือน และให้มีการประกาศผลให้รางวัลจังหวัดที่มีความปลอดภัยบนท้องถนนดีเด่น ในวันคาร์ฟรีเดย์อีกด้วย”

ต่อมา “กระทรวงมหาดไทย” มีคำสั่งให้ทุกจังหวัด รวมถึง กทม. ตรวจสอบสถานที่ที่นักขับขี่จักรยาน นิยมมารวมกลุ่มเพื่อออกกำลังกาย

ผุด “เลนจักรยานท่องเที่ยว” ในพื้นที่ 55 จังหวัด 1.2 พันล้านบาท

อีกด้าน “นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดให้นำยางพารา มาเป็นส่วนผสมทำเลนจักรยาน (ไบก์เลน) ทั่วประเทศ เบื้องต้นได้จัดทำแบบเส้นทางจักรยานส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำ ไปใช้ พร้อมดำเนินการได้ 101 โครงการ ใน 55 จังหวัด มีวัตถุประสงค์ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีสถานที่เล่นและออกกำลังกาย ส่งเสริมให้มีวิถีชีวิตอย่างพอเพียงและประหยัด สร้างความอบอุ่นให้แก่สังคมครอบครัว และนำมาซึ่งความรักความสามัคคีในระดับชุมชนท้องถิ่นจนถึงประเทศชาติ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล โดยมีกรอบแนวคิด 3 รูปแบบ คือ

แบบ A พื้นที่เป็นเส้นทางจักรยานในเขตเมืองและเขตชุมชน ใช้งบประมาณ 3-5 ล้านบาท เป็นการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชน

แบบ B เส้นทางจักรยานในพื้นที่หรือเขตสวนสาธารณะ ใช้งบประมาณ 5-10 ล้านบาท เป็นการส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อการออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ

แบบ C เส้นทางจักรยานตามแนวทางถนนทางหลวง ใช้งบประมาณ 10-20 ล้านบาท เป็นการส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อการฝึกซ้อม แข่งขัน ทำกิจกรม และเดินทางไกลเป็นหมู่คณะ

โดย “กรมพลศึกษา” จะเป็นเจ้าภาพในโครงการนี้ ใช้งบประมาณปี 2557 ที่คงค้างอยู่ 1,278 ล้านบาท เพื่อดำเนินภายใต้ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย”

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คมนาคม มหาดไทย เกษตรฯ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประชุมหาข้อสรุป “สัดส่วนการนำยางพาราเป็นส่วนผสมยางราดถนน”

กทม. รองบฯ 1.4 หมื่นล้าน-เลื่อนปรับปรุงทางจักรยาน เฟส 2

มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 2/2558 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

มีการพูดคุยในเรื่องที่ กทม. ได้ประเมินงบประมาณที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ เรื่องงบประมาณการก่อสร้างเบื้องต้นไว้ที่ 14,006 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 กิจกรรม

1. ค่าชดเชยค่ารื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง และค่าจัดรับฟังความคิดเห็น เบี้ยประชุมต่าง ใช้ประมาณงบ 58 ในวงเงิน 500 ล้านบาท

2. จ้างที่ปรึกษาในการออกแบบ ใช้งบปี 58-59 เป็นเงิน 120 ล้านบาท

3. งบประมาณค่าก่อสร้างแบ่งเป็น 4 สัญญา ใช้งบปี 59 และปี 60 วงเงิน 13,136 ล้านบาท

4. การจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 18 เดือน เป็นเงิน 250 ล้านบาท เมื่อรวมงบประมาณที่จะใช้ในงบประมาณปี 58 มีทั้งสิ้น 570 ล้านบาท งบประมาณปี 59 ใช้งบ 9,100 ล้านบาท 60 ใช้งบ 4,336 ล้านบาท

มีข้อสังเกตว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับ กทม.ตั้งวงเงินไว้ 14,000 ล้านบาท เพื่อสร้างเลนปั่นจักรยานยาวความยาว 14 กิโลเมตรในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น เลนปั่นจักรยานที่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นถนนกว้าง 20 เมตร 2 ฝั่ง จากสะพานพระราม 7 ถึง สะพานพระปิ่นเกล้า โดยอาจะเซ็นสัญญาเดือนธันวาคม 2558 นี้

ตรวจสอบสารพัดโครงการ กทม. เปิดจุดนักปั่น!

ในส่อนของ กทม. ปัจจุบันนั้นมีเส้นทางจักรยานอยู่ 31 เส้นทาง แต่อาจจะมีบางเส้นทางที่ได้รับความนิยม บางเส้นทางอาจจะต้องปรับปรุงให้มีมาตรฐานมากขึ้น บางเส้นทางมีปัญหาจักรยานยนต์เข้าไปใช้เส้นทาง

ก่อนหน้านี้ สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร ได้เปิดโครงการสร้างเส้นทางจักรยานทั่วกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจพบว่า กทม.มี ถนน 242 เส้นทางที่ สามารถพัฒนาเป็นเส้นทางจักรยานได้ เช่น 1. กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ มีจำนวน 94 เส้นทาง อาทิ เส้นทางคลองไผ่สิงโต 2. กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง มีจำนวน 22 เส้นทาง อาทิ เส้นทางใต้ทางพิเศษศรีรัชเส้นทางลาดพร้าว 34

3. กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ มีจำนวน 14 เส้นทาง อาทิ เส้นทางถนนนาคนิวาส 4. กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก มีจำนวน 26 เส้นทาง อาทิ เส้นทางถนนรามคำแหง 24 5. กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ มีจำนวน 35 เส้นทาง อาทิ เส้นทางชุมชนกุฎีจีนเส้นทางชุมชนย่านตลาดพลู 6. กลุ่มเขตกรุงธนใต้ มีจำนวน 51 เส้นทาง อาทิ เส้นทางตลาดน้ำคูหาสวรรค์ เส้นรอบวัดโคนอน

โดย กทม.จะเร่งพัฒนาเส้นทางให้เป็นเส้นทางร่วมในการใช้งานของรถยนต์ จักรยานยนต์ และจักรยาน โดยจะเร่งดำเนินการในเส้นทางที่มีความพร้อมและหากเส้นทางใดสามารถพัฒนาไปสู่การทำเป็นเลนจักรยานโดยเฉพาะได้ก็จะดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากกำหนดแผนงานปรับปรุงด้านกายภาพของเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ในระยะที่ 2 ที่ กทม.จะดำเนินการเพิ่มเติม มีจำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนพระสุเมรุ (ส่วนต่อขยาย) และถนนสนามไชย (ส่วนต่อขยาย) ระยะทางประมาณ 8-9 กม. ซึ่งจากเดิมมีกำหนดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มี.ค. 2558 นี้ แต่ขณะนี้เกิดปัญหาต้องเลื่อนการดำเนินงานออกไป

เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินเรื่องของบประมาณปี 59 อีกทั้งยังต้องปรับปรุงรูปแบบเพิ่มเติมเพื่อให้มีความทันสมัยและสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ เช่น 1. การปรับปรุงผิวทางจักรยานและฝาท่อระบายน้ำ ให้มีความราบเรียบเสมอกัน 2. ตีเส้นจราจรช่องทางจักรยาน ทำสีพื้นทางพร้อมรูปสัญลักษณ์จักรยานและสัญลักษณ์เตือนจุดอันตราย 3. การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย เพื่อเพิ่มความชัดเจนของช่องทางจักรยาน 4. ปรับปรุงทางลาดทางเท้า เพื่อให้บริการจักรยานรวมถึงคนพิการ 5. ติดตั้งที่จอดรถจักรยาน ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่

ทั้งนี้ สำหรับเส้นทางการดำเนินการปรับปรุงทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 12 เส้นทาง รวมระยะทาง 8 กม. ระยะที่ 1 ได้แก่ 1. ถนนมหาไชย 2. ถนนกัลยาณไมตรี 3. ถนนท้ายวัง 4. ถนนมหาราช 5. ถนนหน้าพระลาน 6. ถนนหน้าพระธาตุ 7. ถนนราชินี 8. ถนนพระสุเมรุ 9. ถนนบวรนิเวศ 10. ถนนสนามไชย 11. ถนนตะนาว และ 12. ถนนพระอาทิตย์ ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงกายภาพไปก่อนหน้านี้

ผุดโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” - “1 สวน 1 เส้นทาง 1 สนาม”

ในเรื่องของเลนจักรยาน กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือสั่งการให้สำรวจพื้นที่ และวางแผนในทุกจังหวัด เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามยุทธศาสตร์ 3 ส.พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้การพัฒนายุทธศาสตร์และเส้นทางจักรยานกระจายทั่วประเทศ เป็นการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่

ตามที่ กระทรวงมหาดไทยได้สนับสนุนการจัดทำเส้นทางจักรยาน หรือเลนจักรยานในทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย มีผู้ใช้บริการมากขึ้น ตลอดจนมีการเชื่อมโยงให้เกิดเส้นทางจักรยานในทุกภูมิภาค และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มีการ “แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน และผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นคณะทำงาน โดยมีหน้าที่จัดทำแนวทางและกรอบในการทำงาน และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน รวมทั้งกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความพร้อม เพื่อนำร่องเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ และผลักดันให้มีการขยายไปทั่วประเทศ

มีแนวทางการดำเนินงาน คณะทำงานฯ ได้มีการจัดทำโครงการสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ภายใต้ชื่อโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” โดยมียุทธศาสตร์ 3 ส. “1 สวน 1 เส้นทาง 1 สนาม” ได้แก่ สวนสาธารณะ เส้นทางสัญจร และสนามกีฬา เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ประสบผลสำเร็จ และเป็นแนวทางกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้จังหวัดในการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งในระยะแรกจะมีการคัดเลือกพื้นที่นำร่อง จำนวน 9 แห่ง โดยพิจารณาคัดเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความพร้อมมากที่สุดที่จะดำเนินการ ได้แก่

1) เทศบาลตำบลตลาดเขต อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
2) เทศบาลเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
3) เทศบาลเมืองน่าน จังหวัดน่าน
4) เทศบาลนครเชียงราย จังหวัดเชียงราย
5) เทศบาลตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
6) เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เส้นทางจักรยานริมแม่น้ำน่าน
7) เทศบาลตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
8) องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี
และ 9) เทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

โดยการดำเนินการจะเริ่มจากจังหวัดนำร่อง ในแต่ละจังหวัดพัฒนาตามหลัก 3 ส. “1 สวน 1 เส้นทาง 1 สนาม” และมีการขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ เช่น การกำหนดวันสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ เป็นต้น

ทั่วประเทศทำเลนจักรยาน โคราชได้ 54 ล้านบาท

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของโครงการเลนจักรยานในพื้นที่ภูมิภาค พบว่า มีการอนุมัติงบประมาณผ่านจาก กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เช่น

จังหวัดนครราชสีมา : ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นจำนวน 8 โครงการ วงเงิน 54.03 ล้าน บาท

รูปแบบที่ 1 เส้นทางจักรยานในเขตเมืองและเขตชุมชน วงเงิน 16.38 ล้านบาท รวม 5 โครงการ คือ 1. เส้นทางจักรยานบริเวณศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองปากช่อง อ.ปากช่อง วงเงิน 4.96 ล้านบาท ของสำนักงานเทศบาลเมืองปากช่อง
รูปแบบที่ 2 เส้นทางจักรยานสวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมืองนครราชสีมา วงเงิน 2.48 ล้านบาท ของสำนักงานเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม
รูปแบบที่ 3 เส้นทางจักรยาน “ปั่นทั่วไทย Bile for all” จังหวัดนครราชสีมา ปรังปรุงรอบสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย วงเงิน 4.08 ล้านบาท ของ สำนักงานเทศบาลตำบลเมืองปัก

รูปแบบที่ 4 ก่อสร้างเส้นทางจักรยานบริเวณที่สาธารณประโยชน์สระมโนรา ม.6 ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา วงเงิน 2.57 ล้านบาท ของสำนักงานเทศบาลตำบลโคกกรวด และรูปแบบที่ 5 ก่อสร้างเส้นทางจักรยานบริเวณที่สาธารณประโยชน์ สระน้ำวัดหนองหว้า หมู่ 1 ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา วงเงิน 2.29 ล้านบาท ของสำนักงานเทศบาลตำบลโคกกรวด

ส่วนรูปแบบที่ 2 เส้นทางจักรยานในพื้นที่หรือเขตส่วนสาธารณะ วงเงิน 7.86 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติเพียง 1 โครงการ คือ เส้นทางจักรยานสวนสาธารณะบึงสีคิ้ว ม.4 ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ของสำนักงานเทศบาลเมืองสีคิ้ว

สำหรับรูปแบบที่ 3 เส้นทางจักรยานตามแนวทางถนนทางหลวง วงเงิน 29.79 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติ 2 โครงการ คือ 1. เส้นทางจักรยานบริเวณกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา วงเงิน 13.99 ล้านบาท เป็นของกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี และ 2. พัฒนาทางจักรยานถนนมหาวิทยาลัย 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมืองนครราชสีมา วงเงิน 15.8 ล้านบาท ของ มทส.

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน คาดว่ากรมพลศึกษาจะทำหนังสือยืนยันเพื่อให้เร่งดำเนินการก่อสร้างไม่เกินเดือน ก.พ. และต้องให้แล้วเสร็จทั้ง 8 เส้นทางภายในเดือน มี.ค.นี้”

จ.นครราชสีมายังเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในโครงการสร้างเลนจักรยานเข้าไปเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ คือ เส้นทางจักรยานวังน้ำเขียว-ปากช่อง วงเงิน 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางแนวถนนทางหลวงชนบท เสนอผ่านทางจังหวัด เชื่อมแหล่งท่องเที่ยววังน้ำเขียวกับเขาใหญ่ ระยะทางประมาณ 69 กิโลเมตร (กม.) และเส้นทางสามแยกปักธงชัย-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตามแนวทางหลวงหมายเลข 304 ระยะทางประมาณ 5-6 กม. วงเงิน 40 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอไปยังกรมพลศึกษาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่

ส่วน “สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดนครราชสีมา” มีแผนดำเนินการปรับปรุงเส้นทางสำหรับผู้ใช้จักรยานตามงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 2558 โดยเน้นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างโรงเรียนกับหมู่บ้าน และเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยาน รวม 3 เส้นทาง วงเงิน 25.543 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1. เส้นทางแยกทางหลวงหมายเลข 226-ทางเข้าท่าอากาศยานนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา วงเงิน 8.7 ล้านบาท 2. เส้นทางถนนตามผังเมืองรวมเมืองโนนสูง ถนนสาย ก และ ข อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา วงเงิน 2.093 ล้านบาท และ 3. เส้นทางแยกทางหลวงหมายเลข 2-บ้านหนองปลิง อ.เมืองนครราชสีมา วงเงิน 14.75 ล้านบาท

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น ผู้บริหาร จ.นครราชสีมา ได้ร่วมพิจารณาจัดหาพื้นที่ก่อสร้างเส้นทางรถจักรยาน รวมทั้งออกแบบ ประมาณราคา ตามที่กรมพลศึกษา จัดสรรงบประมาณประจำปี วงเงินรวม 35 ล้านบาท

เชียงใหม่ได้งบ 20 ล้าน - เทศบาลนครประเดิม “เขตเมืองเก่า-นิมมานเหมินทร์”

จังหวัดเชียงใหม่ : ขณะนี้ได้งบประมาณ 20 ล้านบาท จากกรมทางหลวง ทำทางจักรยานริมคลองชลประทาน ตั้งแต่หน้าศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ไปจนถึงห้วยตึงเฒ่า ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร จะเป็นทางจักรยานโดยเฉพาะ

เทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมเส้นทางจักรยานทีเหมาะที่จะเดินทางด้วยจักรยาน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 ในเขตเมืองเก่า เส้นทางที่ 2 ทางฝั่งทิศตะวันออกแถวสถานีรถไฟ วัดเกตุ และส้นทางที่ 3 ตั้งแต่เส้นทางรอบๆถนนนิมานเหมินทร์ ไปจนถึงเส้นทางก่อนขึ้นดอยสุเทพ โครงการส่งเสริมการให้ยืมใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ 100 คัน สำหรับคนไทย ครึ่งชั่วโมงแรกอาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่าย มีจุดยืมคืนจักรยานประมาณ 16 จุดทั่วเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เช่น บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ บริเวณประตูท่าแพ บริเวณสำนักงานท่องเที่ยวของเทศบาลตรงบริเวณถนนท่าแพ เป็นต้น

ชัยนาทได้งบ 60 ล้าน พร้อมจัดงาน 12 เดือนแห่งการปั่น

จังหวัดชัยนาท : ได้รับงบประมาณจากกรมพลศึกษา และกรมทางหลวง ประมาณ 60 ล้านบาท สร้างเส้นทางเฉพาะสำหรับจักรยานจากอำเภอเมืองชัยนาทถึงอำเภอมโนรมย์ ระยะทางไป-กลับ 30 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้นักปั่นมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

รวมถึงได้จัดทำ “โครงการชัยนาทเมืองจักรยาน 12 เดือนแห่งการปั่น” มีการจัดกิจกรรมทุกเดือน เพื่อส่งเสริมให้ชาวชัยนาทใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ได้มีการพัฒนาเส้นทางให้เกิดความปลอดภัย

จังหวัดลำปาง : ได้รับอนุมัติงบประมาณในการทำถน โดยเบื้องต้นจะกำหนดเส้นทาง ซึ่งจะเน้นสร้างเส้นทางสายวัฒนธรรม และท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางเป็นหลักก่อน เพื่อให้การใช้รถจักรยานมีความปลอดภัยมากที่สุด หลังจากนี้ก็จะมีการผลักดันให้ถนนในจังหวัดลำปางมีการทำให้เป็นถนนต้นแบบ คือ มีทั้งทางรถจักรยาน ทางยานพาหนะทั่วไป และเส้นทางรถม้า

คมนาคม รวบรวมข้อมูลหนุนโครงการเลนจักรยาน

ในส่วนของ “กระทรวงคมนาคม” ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมข้อมูล พบว่ามี “โครงการนำร่อง จ.พิษณุโลก เส้นทางจักรยานริมแม่น้ำน่าน” ที่เป็นต้นแบบในต่างจังหวัด ใช้สำหรับการสัญจร ท่องเที่ยวและออกกำลังกาย โดยมีการออกแบบเส้นทางให้ได้มาตรฐาน ระยะทางรวม 23 กม. ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยระยะแรกจะปรับปรุงระยะทาง 4.5 กม. วงเงิน 5 ล้านบาท

ส่วนในกรุงเทพฯ สนข.กำหนดเส้นทางจักรยานรอบบึงมักกะสัน พื้นที่ 500 ไร่ โดยระยะแรกจะจัดทำเส้นทางรอบสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ระยะทางประมาณ 4 กม. ซึ่งจะต้องมีการสำรวจออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาพื้นที่มักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีโครงการคืนความสุขให้ประชาชนด้วยเส้นทางจักรยานทั่วไทย ณ บริเวณช่องทางเข้า-ออก เส้นทางจักรยานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

“กรมเจ้าท่า” มีแผนงานโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต “เลียบเขื่อนป้องกันตลิ่งพังแม่น้ำป่าสัก” ระยะทาง 9 กิโลเมตร ปี พ.ศ.ที่ดำเนินการ 2559-2561

“กรมการขนส่งทางบก” อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ภายในบริเวณกรมการขนส่งทางบก ถ.พหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. ระยะทาง 2 กิโลเมตร ภายในกรมการขนส่งทางบก ปี พ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2557-2558

“กรมทางหลวง” อยู่ระหว่างการดำเนินงาน 1. เส้นทางจักรยาน ทางหลวงหมายเลข 121 ระยะทาง 4.56 กิโลเมตร พื้นที่ ต.ดอกแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ปีพ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2558 2. เส้นทางจักรยาน ทางหลวงหมายเลข 2034 ระยะทาง 7 กิโลเมตร และ 3. เส้นทางจักรยาน ทางหลวงหมายเลข 2034 ตอนมุกดาหาร-นาสีนวน ระหว่าง กม.1+000-8+00 พื้นที่ ต.นาสีนาว อ.เมืองมุกดาหาร ปี พ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2558 และ4. ทางหลวงหมายเลข 4 ระยะทาง 2.20 กิโลเมตร ปี พ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2558

“กรมทางหลวงชนบท” ได้ดำเนินการก่อสร้าง เส้นทางจักรยาน ถ.สายเลี่ยงเมือง บ.ทุ่งเสี้ยว-บ.สันป่าตอง-บ.หางดง ระยะทาง 13.757 กิโลเมตร ปี พ.ศ.ดำเนินการ 2554 2.ชื่อเส้นทางจักรยาน ถ.เลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด ระยะทางรวม 104.039 กิโลเมตร 3. ชื่อเส้นทางจักรยาน ถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ระยะทางรวม 114.801 กิโลเมตร ที่ตั้งถนนที่ทำเส้นทางจักรยาน ถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.ระนอง ปี พ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2552-2555 4.ชื่อเส้นทางจักรยาน ถ.นฐ3054 จ.นครปฐม ระยะทาง 14.7 กิโลเมตร โดยมี อ.ลาดบัวหลวง อ.บางเลน อ.สองพี่น้อง ระยะเวลาดำเนินงาน 2557 และ 5 ชื่อเส้นทางจักรยาน ถ.ชลประทาน (เลียบคลองพระยาบันลือฝั่งใต้) ปี พ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2557

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน 1. ชื่อเส้นทางจักรยาน ถ.พุทธสาคร ระยะทาง 7.4 กิโลเมตร ระหว่าง ถ.พุทธสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ปี พ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2556-2558 2.ชื่อเส้นทางจักรยาน ถ.สาย ก ตอนที่ 2 ผังเมืองรวมกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ปี พ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2557-2559

3. ชื่อเส้นทางจักรยาน สาย สฎ.3062 แยก ทล. 401 เขื่อนรัชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 7.390 กิโลเมตร ปี พ.ศ.ที่ดำเนินงาน 2558-2560 ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่กรมทางหลวงชนบท มีแผนจะดำเนินการในอนาคต ประกอบด้วย ที่ จ.พัทลุง ระยะทาง 80 กิโลเมตร, ถ.สายแยก ทล. ศูนย์ราชการ จ.นครปฐม ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร, ถ.สายบ้านใต้-หาดริ้น อ.เกาะพะงัน ระยะทาง 3.615 กิโลเมตร, ถ.แยก ทล. 37-โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร, ถ.เลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย จ.เพชรบุรี ระยะทางรวม 368.777 กิโลเมตร และโครงการก่อสร้าง ถ.เลี่ยงเมืองต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ระยะทาง 15 กิโลเมตร

“การรถไฟแห่งประเทศไทย” มีแผนงานโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต การรถไฟร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมพลศึกษาอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ ทำเส้นทางจักรยานในการออกกำลังกาย

“การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” มีโครงการทางจักรยานในเขตทางพิเศษศรีรัช ถนนงามวงศ์วาน-แจ้งวัฒนะ ระยะทาง 4.7 กม. และในอนาคต เส้นทางจักรยาน Bicycle Expressway ในเขตทางพิเศษช่วงรามอินทรา-พระราม-9 และช่วงพระราม 9-อโศก-รัชดา ระยะทาง 17.45 กม.

“การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ดำเนินการโครงการเรียบร้อยแล้ว ชื่อเส้นทางจักรยานเพื่อสุขภาพภายในพื้นที่ รฟม.ระยะทาง 3,700 เมตร เปิดใช้บริการเมื่อวันที่ 10 ก.พ.57

“บริษัท ขนส่ง จำกัด” อยู่ระหว่างดำเนินการภายในสถานีขนส่งผู้โยสารกรุงเทพ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง

“บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว บริเวณ ถ.เทวฤทธิ์พันลึก ระยะทางไป-กลับ 7 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างอาคารจอดรถ 5 ชั้น คลังสินค้า 2 วิ่งไปตาม ถ.เทวฤทธิ์พันลึก กองทัพอากาศ

สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเป็นถนนจักรยานสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร และยังมีโครงการในอนาคต คือ ในส่วนของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย และท่าอากาศยานภูเก็ต ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นการออกกำลังกาย เพื่อสันทนาการ และเพื่อสร้างความสามัคคี

ทั้งหมดนี้ เป็นโครงการที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณแล้ว และจะดำเนินการในเร็วๆนี้ ให้กับ “นักขับขี่จักรยานทั่วประเทศ”






กำลังโหลดความคิดเห็น