ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศรชล.เขต 1 บูรณาการจัดระเบียบเรือประมง ตามยุทธศาสตร์ข้อกำหนด IUU เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
วันนี้ (10 มี.ค.) พล.ร.ท.สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และผู้อำนวยการศูนย์ไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล เขตทัพเรือภาคที่ 1 (ศรชล.เขต 1) เป็นประธานในพิธีเปิดการตรวจเรือประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ไม่เป็นไปตามกฎ และข้อกำหนด IUU ณ ท่าเรือกลางอ่าว กองเรือยุทธการ ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานหลัก และหน่วยงานสนับสนุนใน ศรชล.เขต 1 ร่วมเป็นเกียรติ พร้อมปล่อยขบวนเรือชุดปฏิบัติการเป็นปฐมฤกษ์มี เรือตรวจการณ์ ต.112 เรือตรวจการณ์ ต.216 เรือเจ้าท่า 803 เรือตรวจประมงทะเล 701 และเรือตำรวจน้ำ 514
พล.ร.ต.บรรพต เกิดภู่ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ศรชล.เขต 1 กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. เมื่อวันที่ 20 ก.พ.58 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานได้สั่งการให้หน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing โดยกำหนดให้ ศรชล.เป็นหน่วยดำเนินการบูรณาการแผนการตรวจเรือประมงในท่า และในทะเลอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 พ.ค.58
ในการนี้ ศรชล.เขต 1 ได้เชิญหน่วยปฏิบัติการหลัก และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบร่วมวางแผน เพื่อดำเนินการร่วมในการตรวจเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30-60 ตันกรอส ที่ไม่ดำเนินการตาม IUU Fishing โดยการดำเนินการกำหนดไว้เป็น 2 ขั้น
ได้แก่ ขั้นเตรียมการ เป็นการจัดเตรียมเรือของหน่วยปฏิบัติการหลัก เพื่อร่วมตรวจเรือประมงให้สอดคล้องต่อแผน และขั้นการปฏิบัติ เป็นการตรวจเรือประมงในทะเล และการตรวจเรือประมงในพื้นที่ท่าเรือจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของ ศรชล.เขต 1 โดยการตรวจเป็นการร่วมตรวจระหว่างหน่วยงานของ ศรชล.เขต 1 และหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่จังหวัด ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการหลักของ ศรชล.เขต 1 ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สำนักจัดหางานจังหวัด และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
พล.ร.ท.สุชีพ กล่าวว่า จากการที่สหภาพยุโรปได้กำหนดให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าประมงไปประชาคมยุโรป ต้องทำการรับรองสินค้า และผลิตภัณฑ์ประมง โดยให้ดำเนินการให้เป็นไปตาม IUU Fishing โดยกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 โดยที่ผ่านมา การทำประมงของประเทศไทยไม่เป็นไปตาม IUU Fishing สหภาพยุโรปจึงได้กำหนดกรอบเวลา ให้ประเทศไทยต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม IUU Fishing ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.58
หากไม่สามารถดำเนินการได้ ประเทศไทยอาจถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือต่อสหภาพยุโรป ภายใต้กฎระเบียบ IUU Fishing ส่งผลทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปได้อีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า สินค้าประมงไทย
และจากมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช.นั้น ในนามของ ศรชล. และ ศรชล.เขต 1 จึงขอให้หน่วยปฏิบัติการหลัก และหน่วยสนับสนุน ดำเนินการบูรณาการการตรวจเรือประมงให้เป็นไปตาม IUU Fishing และตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปได้ตามปกติ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่อไป