xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ปกครอง 70% ระบุเปิดเทอมปีนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของลูกเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรุงเทพโพลล์” สำรวจค่าใช้จ่ายผู้ปกครองช่วงเปิดเทอม พบส่วนใหญ่ 70% ระบุเพิ่มมากขึ้น เตรียมงบฯ ไว้สำหรับอุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียนของลูกเฉลี่ย 4 พันบาทต่อคน โครงการเรียนฟรี 15 ปี แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างมาก

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “สภาพคล่องทางการเงินของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม” เนื่องจากช่วงใกล้เปิดเทอม นับเป็นช่วงเวลาที่แทบทุกครอบครัวต่างมีภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของบุตร ไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน ตลอดจนค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ โดยเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา ทั้งสังกัดโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 1,183 คน

ผลสำรวจพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 70.8 ระบุว่าปีนี้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องการเรียนของบุตรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาร้อยละ 25.2 ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 4.0 เท่านั้นที่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายลดลง โดยงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียนให้ลูกเฉลี่ยประมาณ 4,000 บาทต่อคน (ไม่รวมค่าเทอม)

ขณะเดียวกัน ในช่วงเปิดเทอมนี้พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 53.0 ระบุว่าไม่มีปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม เนื่องจากได้แบ่งเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว ขณะที่ผู้ปกครองร้อยละ 47.0 ระบุว่ามีปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้นและสินค้าเกี่ยวกับการเรียนแพงขึ้น

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายนั้น ผู้ปกครองร้อยละ 16.1 ใช้วิธีขอยืมเงินจากญาติ/พี่น้อง/เพื่อน รองลงมาร้อยละ 15.0 ใช้วิธีให้ลูกใช้เสื้อผ้า/อุปกรณ์การเรียนของปีที่แล้วไปก่อน และร้อยละ 12.7 ใช้วิธีลดปริมาณการซื้อเสื้อผ้า/อุปกรณ์ต่างๆ
สำหรับความเห็นต่อโครงการเรียนฟรี 15 ปีของภาครัฐ ผู้ปกครองร้อยละ 32.0 ระบุว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างมาก ขณะที่ร้อยละ 30.5 ระบุว่าช่วยไม่ค่อยได้

เมื่อถามต่อถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี พบ ผู้ปกครองร้อยละ 35.2 ระบุว่าได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก ขณะที่ร้อยละ 29.8 ระบุว่าไม่ค่อยได้ประโยชน์

สุดท้ายเมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนที่สัมผัสได้จากลูกพบว่า ร้อยละ 50.4 พอใจค่อนข้างมาก ขณะที่ร้อยละ 12.3 ไม่ค่อยพอใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น