ป.ป.ช. ออกหนังสือข่าว ย้ำไม่เสนอถอดถอน “คุณหญิง จารุวรรณ” เหตุไม่ถึงขั้นความผิดทางอาญา ย้ำพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ต้องส่งเรื่องไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน
วันนี้ (7 พ.ค.) เวลา 17.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีมีการรายงานข่าว ว่า ป.ป.ช. ไม่เสนอถอดถอน คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกรณีอนุมัติให้ผู้เข้ารับ การฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญยุคใหม่ ไปศึกษาดูงานที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ระหว่างวันที่ 5 - 14 พฤศจิกายน 2546 โดยมิชอบ เนื่องจากคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ต้องส่งเรื่องไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นั้น
ขอเรียนว่า ข่าวดังกล่าวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันในข้อกฎหมาย กล่าวคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องที่กล่าวหาดังกล่าวแล้วมีมติในส่วนของคุณหญิง จารุวรรณ ว่า มีมูลเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ ไม่ถึงขั้นเป็นความผิดทางอาญา และเนื่องจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย จึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 92 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดว่าในกรณีที่ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย
“เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ได้กระทำผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป แต่ในกรณีนี้ คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว”
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทราบ ซึ่งหมายถึงแจ้งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอำนาจถอดถอนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (6) ทราบ แต่ในขั้นตอนของการมีหนังสือแจ้งให้ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทราบดังกล่าว มีความคลาดเคลื่อน โดยส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช. แก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ และมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทราบด้วย
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านั้น ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา ได้ชี้แจงกรณีนี้ ระหว่างแถลงปิดสำนวนการถอดถอน นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง มีใจความว่า
“ส่วนที่มีการเปรียบการถอดถอด นายมนัส กับ คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการ สตง. ว่า เหตุใด ป.ป.ช. จึงไม่ถอดถอนคุณหญิง จารุวรรณ นั้น ป.ป.ช. เห็นว่า นายมนัส เป็นข้าราชการระดับ และถูกกล่าวหาร้องเรียนว่ากระทำความผิดทางอาญา ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเข้าข่ายมาตรา 66 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. และเมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง จึงส่งคดีให้ สนช. ถอดถอน ขณะที่กรณีคุณหญิง จารุวรรณ ไม่มีการร้องเรียนว่ากระทำความผิดร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการร้องตามมาตรา 84 เรื่องความผิดทางอาญา และวินัย เมื่อ ป.ป.ช. ไต่สวนก็พบว่าไม่มีความผิดทางอาญา แต่เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม อีกทั้งตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ไม่มีกฎหมายใดเอาผิดทางวินัยได้ ที่สำคัญผู้ร้องไม่ได้ยื่นถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณ ดังนั้น ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจถอดถอนได้ จึงเพียงแจ้งให้ สนช. รับทราบเท่านั้น ยืนยันว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ทำงานโดยสุจริตไม่อคติ ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย หรือมีจิตใจคิดแต่จะเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ไม่ได้กระทำสองมาตรฐานหรือหลายมาตรฐานมีมาตรฐานเดียวคือทำงานเพื่อแผ่นดิน