xs
xsm
sm
md
lg

สรุปแลนด์มาร์กเจ้าพระยา สนองนโยบาย “บิ๊กตู่” ใช้เงิน 1.4 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 14,006 ล้านบาท จะมีการก่อสร้างเส้นทางจักรยานตลอดแนวริมแม่น้ำ ระยะทาง 14 กม. ตั้งแต่สะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้าทั้งสองฝั่ง โดยรูปแบบการก่อสร้างจะมีการลงเสาเข็มลงไปแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดความกว้างฝั่งละ 20 เมตร แต่ไม่ได้ทำสะพานข้ามเชื่อมระหว่างกัน คาดว่าจะใช้เวลาการก่อสร้าง 18 เดือน
“มท.-กทม.” ชง ครม.ของบฯ 1.4 หมื่นล้าน สนองนโยบาย “บิ๊กตู่” ผุด “แลนด์มาร์กเจ้าพระยา” เร่งลงนามสัญญาปลายเดือน ธ.ค.นี้ ด้าน “ประวิตร” สั่งเร่งเดินหน้าแผนพัฒนาริมเจ้าพระยาตามกรอบเวลา คาดคนกรุงได้ใช้ต้นปี 60 เน้น สร้างเส้นทางจักรยานตลอดแนวริมแม่น้ำ 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้าทั้งสองฝั่ง เล็งลงเสาเข็มลงไปแม่น้ำเจ้าพระยากว้างฝั่งละ 20 เมตร

วันนี้ (6 พ.ค.) มีรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กระทรวงมหาดไทย ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธาน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการสำนักพระราชวัง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง

โดยการประชุมเป็นการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อติดตามความคืบหน้าจากการประชุมครั้งแรกที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ คือ คณะอนุกรรมการบริหารโครงการ คณะอนุกรรมการออกแบบและก่อสร้าง คณะอนุกรรมการกฎหมาย และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์

พล.อ.ประวิตรกล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบกรอบเวลาในการทำงานแล้วเบื้องต้นว่าจะสามารถดำเนินการได้เสร็จเรียบร้อยภายในปี 2560 ทั้งนี้ การทำงานจะบูรณาการกับทุกหน่วยงานทั้งการออกแบบ การใช้งบประมาณ และการก่อสร้าง รัฐบาลจะเร่งดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่วางแผนไว้ ส่วนเรื่องการออกแบบนั้น กทม.และกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการไปแล้ว

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้สรุปแผนงานจากคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ โดยจะเอาผลการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อจะได้นำมติไปดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยใช้งบประมาณปี 2558-2560 กว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับปี 2558 จะใช้งบประมาณ 5,500-6,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาเราได้ทำความเข้าใจต่อประชาชน รวมถึงได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ขอให้รอมติ ครม.ออกมาก่อนจะดำเนินการส่วนอื่นไปพร้อมๆ กัน เช่น การศึกษาผลกระทบ การสำรวจออกแบบ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2560

ด้านนายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. มีมติเห็นชอบให้มีคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการด้านการบริหารโครงการ 2. คณะอนุกรรมการด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์ 3. คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และ 4. คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ เพื่อให้การดำเนินโครงการสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ จึงได้มีการลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 4 คณะดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการด้านการบริหารโครงการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาความเหมาะสม กำกับ ติดตาม และให้ข้อเสนอการปฏิบัติงานแก่อนุกรรมการต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและวัตถุประสงค์โครงการรวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการอำนวยการและคณะรัฐมนตรีทราบ

2. คณะอนุกรรมการด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์ มีปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำองค์ประกอบของการก่อสร้าง กำกับการออกแบบ กำหนดเวลา แผนปฏิบัติการ และงบประมาณในการก่อสร้างให้เหมาะสม คุ้มค่า

3. คณะอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย มีอัยการสูงสุดเป็นประธานอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4. คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่อสาธารณะ เพื่อดำเนินการด้านต่างๆ และคณะอนุกรรมการแต่ละชุดสามารถแต่งตั้งคณะทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการด้านการบริหารโครงการยังได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านการประสานงาน ในการบริหารโครงการเมื่อวันที่ 16 เม.ย. โดยมีนายอดิศักดิ์ ขันตี รองปลัดกทม.เป็นประธานคณะทำงาน และมีหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ร่วมเป็นคณะทำงาน จำนวน 24 คน

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ พบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ เช่น วัด 8 แห่ง ท่าเรือเอกชนและสาธารณะ 36 แห่ง โรงเรียนและร้านอาหาร 6 แห่ง สถานที่สำคัญ 19 แห่ง และชุมชนรุกล้ำ 268 หลังคาเรือน อีกทั้งการออกแบบพร้อมประมาณราคา การรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ

“รวมถึงการขอกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเงินทั้งสิ้น 14,006 ล้านบาท โดย “โครงการพัฒนาริมเจ้าพระยา” คือการสร้างเส้นทางจักรยานตลอดแนวริมแม่น้ำ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้า ทั้งสองฝั่ง โดยรูปแบบการก่อสร้างจะมีการลงเสาเข็มลงไปแม่นำเจ้าพระยา ขนาดความกว้างฝั่งละ 20 เมตร แต่ไม่ได้ทำสะพานข้ามเชื่อมระหว่างกัน คาดว่าจะใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 18 เดือน”

ทั้งนี้ การรุกล้ำพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายจำเป็นจะต้องมีการรื้อ ย้าย บ้านเรือนและประชาชนออกจากพื้นที่เพื่อจัดระเบียบตามดำริของนายกรัฐมนตรีในการคืนพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น อย่างไรก็ตามจะมีการหารือแนวทางดำเนินการตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันนี้ และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ แบ่งเป็นงบดำเนินการในปี 2558 จำนวน 500 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าชดเชย ค่ารื้อย้าย ค่าจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในส่วนของปีงบประมาณ 2558-2559 เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบจำนวน 120 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2559-2560 เป็นค่าก่อสร้างโครงการ จำนวน 13,136 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 250 ล้านบาท โดยจะมีการลงนามสัญญาโครงการในเดือน ธ.ค. 2558 และก่อสร้างระหว่างเดือน ม.ค.2559 - ก.ค. 2560 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 180 วัน

มีรายงานว่า ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการซึ่งจะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าเพื่อขออนุมัติในหลักการต่อไป

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 1/2558 มีการหารือถึงการดำเนินงาน รูปแบบโครงการ รวมถึงปัญหาอุปสรรค ผลกระทบ และแนวทางแก้ไขเบื้องต้นในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประชุมวันนั้นได้เห็นชอบในหลักการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ดังกล่าว

สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดขึ้นตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของประเทศให้เกิดทัศนียภาพสวยงาม ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าเพื่อการพักผ่อน การออกกำลังกาย การจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างสัญลักษณ์แห่งใหม่ (Landmark) ให้แก่กรุงเทพมหานครและประเทศไทย

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีหน้าที่กำหนดแนวทางในการดำเนินโครงการ รวมถึงจัดทำแนวทางการศึกษาความเหมาะสม จัดทำรายละเอียดการออกแบบและการก่อสร้าง ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแต่งตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนโครงการ และมอบหมายให้กรุงเทพมหานครศึกษาแนวคิด การออกแบบและงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย





กำลังโหลดความคิดเห็น