“อลงกรณ์” เห็นด้วยประชุม ศปป.ทุกเดือน ให้ทุกฝ่ายเข้าใจกัน เชื่อ ประชดแนะให้เลื่อนเลือกตั้ง 2-3 ปี ย้ำควรตามโรดแมป ยืดเวลาออกไปมีเงื่อนไขคือประชามติ คาดถกแม่น้ำ 5 สาย พ.ค.ถกจริงจัง ประเมินกรอบเวลาซักฟอก รธน.ตามเดิม ด้านกลุ่ม นศ.บุกยื่นหนังสือ จี้กำหนดวิชา ปชต.ตั้งแต่ประถม
วันนี้ (24 เม.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวิป สปช. แสดงความเห็นถึงการประชุมเพื่อขอความเห็นพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. โดยเห็นด้วยที่ควรจัดให้มีเวลาในลักษณะนี้เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ทุกฝ่ายสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ขณะที่ข้อเสนอให้การเลือกตั้งช้าไป 2-3 ปีนั้นเข้าใจว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปในทางประชดประชัน เพราะหากระยะเวลานานเกินไปไม่เป็นผลดีต่อประเทศ ที่ควรเดินไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามโรดแมปที่กำหนดไว้ เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว
นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า แต่หากจะมีการยืดระยะเวลาออกไปจากโรดแมปที่กำหนดไว้ก็ด้วยเงื่อนไขเรื่องการออกเสียงประชามติ เพื่อสร้างการยอมรับต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นประมาณกลางปีหน้า โดยคาดว่าในการประชุมแม่น้ำ 5 สายในเดือนพฤษภาคมน่าจะมีการหารือเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เนื่องจากหากมีการเห็นชอบจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พร้อมแสดงความเห็นด้วยว่า หากมีการเห็นชอบให้ทำประชามติก็ไม่ควรมีการลงมติรับร่างโดย สปช. เพราะถือให้เป็นมติของมหาชน
ส่วนการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะเริ่มพิจารณาภาค 3 ในวันนี้ และประเมินว่ากรอบเวลายังเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ที่จะเสร็จสิ้นเวลาสามทุ่มของวันที่ 26 เมษายนนี้ ขณะที่ความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมยื่นคำขอแก้ไขก็เริ่มมีสมาชิกดำเนินการรวมรวมแล้ว โดยสมาชิกหนึ่งคนสามารถยื่นคำขอแก้ไขได้ 8 เรื่อง โดยวิป สปช.จะรวบรวมและส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ทันตามกรอบภายใน 30 วัน หลังจากพิจารณารัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จสิ้น
ขณะเดียวกัน นายนันทพงศ์ ปานมาศ ผู้ประสานงานกลุ่มเสียงจากหนุ่มสาว พร้อมด้วยนักศึกษากว่า 20 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวิป สปช. เพื่อเรียกร้องให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ผลักดันปฏิรูปการศึกษาด้วยการกำหนดให้วิชาประชาธิปไตยไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นสิ่งสากลเหมือนกันทั้งโลก รัฐบาลจำเป็นต้องทำความเข้าใจและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประชาธิปไตยที่หมายถึงอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนเพื่อประชาชน ด้าน นายอลงกรณ์กล่าวว่า จะผลักดันข้อเสนอแนะดังกล่าวให้ประธาน สปช.และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อไป