ศาลปกครองรับลูกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะกรรมการศึกษาจัดตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชี้เน้นพิจารณาลดขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงสั้นกว่าคดีปกครองทั่วไป เร่งรัดคดีวินัยการคลังให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
วันนี้ (8 เม.ย.) นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ได้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา (3/1/4) 3 โดยบัญญัติให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด นั้น ศาลปกครองได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ หากมีการจัดตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองขึ้นจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรตุลาการจะทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำทางปกครองเกี่ยวกับเงินแผ่นดิน การจัดทำงบประมาณว่าเป็นไปตามวินัยการคลังและการงบประมาณของประเทศหรือไม่ เนื่องจากการทำหน้าที่ของศาลปกครองในเรื่องดังกล่าวถือเป็นการควบคุมการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติได้
ดังนั้น นายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ลงนามคำสั่งที่ 41/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย. แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาเตรียมการจัดตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครอง เพื่อกำหนดทิศทางนโยบาย แผนงาน และโครงการที่จำเป็นสำหรับการรองรับการจัดตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครอง ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการ รวมทั้งลักษณะพิเศษเฉพาะของคดีปกครองที่เกี่ยวกับวินัยการคลังและการงบประมาณ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองต่อไป ตลอดจนศึกษาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีและการบังคับคดีของศาลที่เหมาะสม
โฆษกศาลปกครอง กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการดำเนินคดีของแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณนั้น ศาลปกครองเห็นว่า คดีปกครองเกี่ยวกับวินัยการคลังและการงบประมาณมีผลต่อการบริหารราชการของรัฐบาล หรือฝ่ายปกครอง เพราะหากมีการพิจารณาคดีล่าช้าจะทำให้มีผลกระทบต่อการบริหารราชการของรัฐบาล หรือฝ่ายปกครองได้ ดังนั้น จึงได้กำหนดวิธีพิจารณาเกี่ยวกับคดีวินัยการคลังและการงบประมาณเป็นพิเศษ โดยลดขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงให้สั้นลงกว่าวิธีพิจารณาคดีปกครองทั่วไป และเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีข้อเท็จจริงเพียงพอ