ครม.ออกกฎเข้ม 8 ข้อห้ามรับสงกรานต์ ปี 58 รณรงค์ใช้ขันเล่นน้ำตามประเพณี แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ห้ามขาย-ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดกิจกรรม ห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน ห้ามใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ห้ามขับรถกระบะบรรทุกเล่นน้ำในที่ชุมชนหรือบริเวณจัดงาน รณรงค์ไม่ให้มีการแสดงหรือการเต้นที่ไม่เหมาะสม พร้อมกำหนดเวลาการเล่นน้ำที่ชัดเจน ไฟเขียวแผน 7 วันอันตราย ภายใต้ชื่อว่า “สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี” สั่งตั้งจุดบริการ 243 จุดทั่วประเทศ
วันนี้ (7 เม.ย.) ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบวิถีปฏิบัติในการเล่นน้ำในประเพณีสงกรานต์ตามแบบดั่งเดิมของไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ รวมทั้งมอบหมายให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสาธารณะได้รับทราบถึงระเบียบข้อห้าม ดังนี้
“1. การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลม โดยรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง หรือเสื้อลายดอก 2. การห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมงานสงกรานต์ 3. การห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน แป้ง น้ำแข็ง และโฟม 4. การห้ามใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง หรืออุปกรณ์เล่นน้ำที่อาจเกิดอันตราย โดยรณรงค์ให้ใช้ขันน้ำตามประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม
5. การห้ามขับรถกระบะบรรทุกน้ำในการเล่นน้ำสงกรานต์ไปในที่ชุมชน หรือบริเวณจัดงาน 6. การแสดงภาพลักษณ์ที่เหมาะสมในการเล่นน้ำสงกรานต์โดยรณรงค์ไม่ให้มีการแสดงหรือการเต้นที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย 7. หากมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมประเพณีงานสงกรานต์ ขอให้จัดกิจกรรมที่สอดคล้องและส่งเสริมประเพณีไทย 8. ขอให้มีการกำหนดเวลาการเล่นน้ำที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการจราจร และการเกิดอาชญากรรมในยามวิกาล”
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 โดยมีสาระสำคัญของแผนบูรณาการฯ ประกอบด้วย ชื่อในการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 ใช้ชื่อว่า “สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี” ช่วงเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2558 มีเป้าหมายการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัยและมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 โดยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้วยตนเอง
สำหรับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการด้านการบริหารจัดการ มาตรการด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย มาตรการด้านยานพาหนะที่ปลอดภัย มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และมาตรการด้านการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ
มาตรการเน้นหนัก ประกอบด้วย 1 มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจัง
(1) บังคับใช้กฎหมายจราจรตามมาตรการ 1 ร. 2 ส. 3 ข. 4 ม. (10 รสขม) ได้แก่ 1) ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 2) ขับรถย้อนศร 3) ฝ่าฝืนสัญจรจราจร 4) ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5) ไม่มีใบขับขี่ 6) แซงในที่คับขัน 7) เมาสุรา 8) ไม่สวมหมวกนิรภัย 9) มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 10) ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ และบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10 ) พ.ศ. 2557 กรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุรา หรือของอย่างอื่น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเมาสุราหรือของอย่างอื่น รวมทั้งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกรณีห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โดยให้เน้นหนักกรณีเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นพิเศษ
(2) บังคับใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายสุรา กฎหมายสถานบริการ กฎหมายทางหลวงและกฎหมายขนส่งทางบก เป็นต้น (3) ให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้มาตรการทางสังคมและชุมชน เพื่อควบคุมกำกับ และป้องปรามผู้ที่พฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่
2. มาตรการด้านสังคมและชุมชน (1) ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครบูรณาการร่วมกับอำเภอ สำนักงานเขต สถานีตำรวจในพื้นที่ หน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน/หมู่บ้าน และอาสาสมัครต่างๆ จัดตั้งด่านชุมชน โดยใช้มาตรการทางสังคมควบคุมป้องปราม และตักเตือนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ และให้ระมัดระวังการเล่นน้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตราย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเล่นน้ำบริเวณพื้นที่เล่นสงกรานต์ที่ปลอดภัย และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) ตลอดจนหากใช้ยานพาหนะในการเล่นน้ำต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการขับขี่และโดยสาร (2) เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจัง และสื่อสารผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพอย่างเข้มข้นให้ครอบคลุมทุกเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และขับขี่ด้วยความเร็ว
3. มาตรการแก้ไขปัญหา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัดและกรุงเทพมหานครนำข้อมูลในพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อหามาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่และจุดตัดทางรถไฟ
4. มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ (1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพิ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 ผ่านสื่อทุกชนิดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเล่นน้ำในบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) (2) ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (3) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาสัมพันธ์การดำเนินการผ่านสื่อทุกชนิดในพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อปลูกจิตสำนึก ค่านิยม วัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชน และเกิดความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 รวมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่เล่นน้ำในบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning)
5. มาตรการด้านการบริหารจัดการ (1) ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) โดยให้ประสานอำเภอ สำนักงานเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) (2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนกำหนดมาตรการองค์กรและบทลงโทษ เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน และป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงของบุคลากรในองค์กร รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้มารับบริการได้รับทราบและปฏิบัติตามมาตรการองค์กรอย่างเคร่งครัด
6. ช่วงเวลาดำเนินการ กำหนดเป็น 2 ช่วง ดังนี้ 1. ช่วงเตรียมความพร้อมและรณรงค์ ระหว่างวันที่ 1-8 เมษายน 2558 และ 2. ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2558
7. ตัวชี้วัด สถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit)ลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2557 สถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2557 และ สถิติจำนวนยานพาหนะที่ถูกเรียกตรวจและจำนวนยานพาหนะที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 10 มาตรการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้แจ้งแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 ให้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัด เพื่อรับทราบและประสานการปฏิบัติแล้ว
วันเดียวกัน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ.ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 9-16 เมษายนนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีคำสั่งให้หน่วยงานทหารตั้งจุดไว้บริการประชาชนตลอดเส้นทางการเดินทางบนถนนสำคัญจำนวนกว่า 243 จุด เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ประชาชน โดยเน้นให้จุดบริการดังกล่าวเป็นจุดรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการตรวจสอบเส้นทาง ตรวจเช็กสภาพรถ บริการน้ำดื่ม และผ้าเย็นปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมกันนี้ยังได้มีคำสั่งให้โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกทุกแห่งเตรียมบุคลากร และเครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อมเพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้ทันท่วงที
สำหรับในพื้นที่ชายแดนนั้นจะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยประชาชน และป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเอาสิ่งผิดกฎหมาย หรือยาเสพติดผ่านเข้า-ออกในช่วงเวลาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบกยังชื่นชมทหารบางส่วนจะไม่ได้หยุดกลับบ้าน เพื่อทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย และขอให้ประชาชนทุกคนมีความสุขสวัสดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ด้วย