เปิด “อาณาจักรโบนันซ่าเขาใหญ่” ก่อนถูกชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงยุติธรรม กองทัพภาคที่ 2 กรมป่าไม้ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินสนามแข่งรถโบนันซ่า เขาใหญ่ พบ “ร.ต.ท.สงกรานต์ เตชะณรงค์” นั่ง นายสนามโบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ อ้าง มีระยะห่างจากอุทยานฯเขาใหญ่ 30 - 40 กม. เคยจัด Big Mountain concert แหล่งชุมนุมคนเสื้อแดงตลอดกาล “เจ้าพ่อโบนันซ่า” ได้ดียุครัฐบาลเพื่อไทย
ใครกินป่า! ข่าวใหญ่วันนี้ครับ “สุริยะใส กตะศิลา” อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงยุติธรรม กองทัพภาคที่ 2 กรมป่าไม้ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินสนามแข่งรถโบนันซ่า เขาใหญ่
“งานนี้ ต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ ที่ปล่อยปละละเลยด้วย และกรณีแบบนี้มีหลายที่มากรอการเอาจริงเอาจังจากผู้ใหญ่ของบ้านเมืองแบบนี้ ต้องชมเชยการปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ครับ”
ล่าสมบัติ “อาณาจักรโบนันซ่าเขาใหญ่”
หลังจาก ช่วงเช้าของวันที่ 31 มี.ค. พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 กรมป่าไม้ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เดินทางไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ดินในพื้นที่สนามแข่งรถโบนันซ่า เขาใหญ่ หลังปรากฏหลักฐาน น.ส.3 ก. บางส่วนของพื้นที่สนามเเข่งรถส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาเสียดอ้า อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ขณะที่ฝ่าย “โบนันซ่าเขาใหญ่” มี นายอารักษ์ เตชะณรงค์ และ น.ส.พัทธมน เตชะณรงค์ น้องชายและบุตรสาว นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าพ่อโบนันซ่าเขาใหญ่ มาพบเจ้าหน้าที่พร้อมนำเอกสารสิทธิบางส่วนมาให้ตรวจสอบ
โดยแสดงความมั่นใจว่า พื้นที่ดังกล่าวได้มาโดยถูกกฎหมาย ยินดีให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ เนื่องจากที่ดินและเอกสารสิทธิครอบครอบซื้อต่อมาจากชาวบ้าน บางรายมาร้องไห้ขอร้องให้ช่วยซื้อจึงซื้อที่ดินมาทีละแปลงต่อจากชาวบ้าน
“ในการซื้อที่ดินทุกครั้งจะได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอด ในส่วนสนามแข่งรถนั้นสร้างมา 3 ปีแล้ว และปีหนึ่งมีการใช้สนามแข่งรถประมาณ 2 - 3 ครั้ง”
ขณะที่ “อาณาจักรโบนันซ่าเขาใหญ่” ดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 20 - 30 ปี มีพื้นที่ประมาณ 3 - 4 แปลง แบ่งเป็นพื้นที่ทำ สนามแข่งรถโบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ และห้องพักจำนวน 15 หลังติดเขาเสียดอ้า เขานกยูง เขาอ่างหิน และอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 151 ไร่
ในส่วนจำนวนพื่นที่นั้น “นายอารักษ์” ระบุว่า ไม่ทราบจำนวนว่าถือเอกสารสิทธิครองครองกี่ไร่ เนื่องจากเอกสารส่วนใหญ่อยู่ที่ “สำนักงานในกรุงเทพฯ” แต่ตระกูลทำธุรกิจมานานและมีเอกสารครอบครองทุกแปลง อยากขอความเป็นธรรมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
ประเด็นนี้ พ.ต.อ.ดุษฎี เห็นว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าโบนันซ่าเขาใหญ่นั้นในส่วนพื้นที่บ้านพักติดกับเขาเสียดอ้า เขานกยูง เขาอ่างหิน และอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ไม่สามารถออกโฉนดหรือเอกสารสิทธิใดๆ ได้ ในส่วนพื้นที่สนามแข่งรถนั้นทราบว่าประมาณปี 2545 ก่อนเป็นพื้นที่ลำรางน้ำและทางสาธารณะ หลังจากนี้ก็จะให้โอกาสทางเจ้าของโบนันซ่านำเอกสารสิทธิการครอบครองพื้นที่มาตรวจสอบมาเปรียบเทียบเอกสารทางราชการ ถูกผิดว่ากันตามกฎหมาย
ขณะที่ พันเอก สมหมาย บุษบา คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย กองทัพภาคที่ 2 ระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและชาวบ้านในพื้นที่มานานแล้วว่า “โบนันซ่าเขาใหญ่” บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เบื้องต้นจากการเทียบเอกสารทางราชการพบว่าโบนันซ่าเขาใหญ่ ในส่วนสนามแข่งรถประมาณ 151 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. 72 ไร่ น.ส.3 ก. 47 ไร่ และป่าสงวน 32 ไร่ อีกทั้งในส่วนที่พักยังติดพื้นที่ป่าถาวร ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิครอบครองใดๆ ได้เลย ทั้งในส่วนพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทราบว่ามีเอกชนถือครองที่ดินนับพันไร่ ซึ่งเมื่อก่อนรัฐแบ่งที่ดินให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำกิน
หลังจากนี้ จะให้เจ้าของกิจการโบนันซ่าเอาเอกสารสิทธิมาให้ตรวสอบ หากพบว่ารุกพื้นที่ป่าสงวนจริงก็ผิด โดยการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ พร้อมแจ้งข้อหาแผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 54 และข้อหายึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 มาตรา 14
“นอกจากนี้ จะดำเนินการตรวจสอบที่ดินสนามกอล์ฟ หมู่บ้านที่จัดสรรให้นักการเมือง บ้านจัดสรร สวนสัตว์ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. เมื่อปี พ.ศ. 2519 และนำมาออกโฉนดที่ดินในภายหลัง ซึ่งจะส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ท. ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกับนายทุนออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว”
“ร.ต.ท.สงกรานต์ เตชะณรงค์” นั่ง นายสนาม โบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์
สำหรับ “อาณาจักรโบนันซ่าเขาใหญ่” ข้อมูลจากเวปไซด์ http://www.motorsportlives.com เคยสัมภาษณ์ “ร.ต.ท.สงกรานต์ เตชะณรงค์" บุตรชาย นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ผู้บริหารเจ้าของโปรเจกต์ สนามแข่งรถแห่งใหม่ "โบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์" ซึ่งอีกตำแหน่ง นั่งเป็น “ผู้อำนวยการสนาม” นอกจากนี้ ยังพบว่า มี “นายอมร วรมาลี” นั่งเป็นผู้จัดการทั่วไปสนาม
ขณะที่ สนาม โบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ ในเฟสแรกมีระยะทางต่อรอบทั้งสิ้น 2.8 กิโลเมตร ประกอบด้วย โค้งทั้งสิ้น 11 โค้ง ทางตรงระยะยาวที่สุด 720 เมตร สามารถรีดความเร็วได้ไม่ต่ำกว่า 200 กม. ต่อ ชั่วโมง ปูหน้าผิวแทร็กด้วยยางแอสฟัลต์ (Asphalt)
"คือ จริงๆ ที่ตรงนั้นมันเป็นพื้นที่กว้างเพื่อจัดงานคอนเสิร์ตอยู่แล้ว ซึ่งทางผมเองมีพื้นที่ที่เขาใหญ่มานานแล้ว ซึ่งมันเป็นพื้นที่ว่างเปล่า บวกกับมันก็เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมประเภทพวกคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ ผมเลยมีไอเดียคิดที่จะสร้างสนามแข่งรถบวกเข้าไปในพื้นที่นั้นด้วย เพื่อจะรองรับงานในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น”
“เรื่องงบประมาณ พอสมควรครับ ผมเองไม่กล้าเปิดบัญชีดูครับว่าลงทุนไปเท่าไร เพราะผมกลัว (หัวเราะ) แต่ไม่ถึงหลักร้อยล้าน เพราะว่าเรามีพื้นที่อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีพื้นที่เองคงถึงหลักร้อยล้านแน่นอน ขณะเดียวกัน ถ้าเราจัดงานขึ้นในโบนันซ่าคนแถว อ.ปากช่อง จะมาเที่ยวงานของเรา เพราะอยู่ใกล้กับพื้นที่ อย่างเช่นที่ผ่านมาจัดงานคอนเสิร์ต จะมีคนมากันหมื่นสองหมื่นคน แต่ที่พักของเรามีแค่ร้อยกว่าห้องอาจจะไม่พอกับความต้องการของคนมาเที่ยว แต่พวกเขาจะไปใช้บริการโรงแรมข้างๆ ไปกินร้านอาหารข้างๆ ไปจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อของกัน ซึ่งตรงนี้ทำให้ผมเองรู้สึกแฮปปี้นะ เวลาจัดงานให้คนในพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานในแต่ละครั้ง”
"รูปแบบสนามเป็นแบบเซอร์กิต ใช้แข่งรถแบบทางเรียบ ทั้งรถมอเตอร์ไซต์และรถยนต์ครับ ความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร และสนามอยู่ติดกับโบนันซ่า ไม่ไกลมากนัก ถ้าหากจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณชั่วโมงครึ่งครับ ทั้งนี้ในส่วนของสนามแล้วยังมีพื้นที่สำหรับจัดคอนเสิร์ตหรือมหกรรมต่างๆได้อีก ซึ่งตรงนี้เรายังสามารถนำงานคอนเสิร์ตหรืองานแข่งรถเข้ามารวมกันได้ด้วย"
"มันเป็นสนามที่น่าจะยาวที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ คือ มีความยาว 3 กิโลเมตร และการสร้างสนามทุกอย่างค่อนข้างอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แบบ และค่อนข้างใหม่ ถนนหนทางยังเรียบ และยังอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนักจากกรุงเทพฯ ที่สำคัญ เรามีที่พักอยู่ติดกับตัวสนามแข่งขัน คือ สามารถไปค้างคืน และตื่นเช้ามาเอารถออกมาซ้อมได้เลย"
“ครอบครัวของผมทั้งคุณพ่อและคุณแม่เขารู้สึกแฮปปี้นะ เพราะเขาอายุเยอะ เขาขี้เหงาด้วย เขาอยากให้คนมาเยอะๆ จะได้มีเพื่อน ด้านสาวคนสนิท (แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) สงกรานต์อมยิ้มพร้อมกล่าวว่า แอฟเขาก็ชอบความเร็วเหมือนกันครับ และตัวเขาเองก็เป็นคนขับรถเร็วมากโดยเฉพาะในสนามแข่งขัน แต่กลับกันเขาเป็นคนทำอะไรทุกอย่างช้าหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินช้า เดินช้า แต่งหน้าช้า ส่วนตัวผมขับรถไม่ค่อยเร็ว แต่อาจจะมีบ้างในบางครั้ง นานๆ ที แต่แอฟเขาขับเร็วเป็นกิจวัตร (หัวเราะ)”
สำหรับเรื่องสัตว์ป่าที่หลายคนเป็นห่วงนั้น ผมเชื่อว่าพื้นที่ของเรา ที่จะทำสนามแข่งรถที่โบนันซ่า เป็นพื้นที่จำกัดและปลอดภัย ไม่น่าจะทำอันตรายหรือรบกวนสัตว์ป่าในบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตามผมก็จะพยายามดูเรื่องนี้อย่างเข้มงวดแน่นอน
นายสนาม อ้าง มีระยะห่างจากอุทยานเขาใหญ่ 30 - 40 กม.
ด้านคำถามที่สะท้อนจากภาคสังคมเกี่ยวกับมลภาวะทางเสียง ทางผู้บริหารและทีมออกแบบได้ชี้แจงว่า “สนามโบนันซ่า สปีดเวย์ มีระยะห่างจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ราว 30 - 40 กม. จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของสัตว์ป่าในเขตอุทยาน โดยภายหลังได้มีการทดลองนำรถแข่งลงวิ่งทดสอบในสนาม ผลปรากฏว่า ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของชุมชนรอบข้างสนามโบนันซ่า สปีดเวย์”
“ทั้งนี้ พื้นที่สนามแข่งเดิมมีการใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ อยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบ เราอยากเรียนให้ภาคสังคมทราบว่าทางสนามเองคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้นจึงอยากชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนว่าเราจะทำทุกอย่างให้อยู่ในกรอบของความรับผิดต่อทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และสุดท้ายอยากฝากว่าการสร้างสนามโบนันซ่าขึ้นมาไม่ได้เกิดประโยชน์ของเราเพียงฝ่ายเดียว แต่จากประสบการณ์ที่จัดงานคอนเสิร์ตระดับประเทศ ชุมชนและสถานประกอบการต่างๆ ที่อยู่ในเขตใกล้เคียงล้วนได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทั้งสิ้น”
สนามแข่งเคยจัด Big Mountain concert
ตามข้อมูลในเว็บไซต์เกี่ยวกับยานยนต์ ระบุว่า สถานที่ก่อสร้างสนาม (สถานที่จัด Big Mountain concert) สนามแห่งนี้ ใช้พื้นที่รวมแล้วในขณะนี้ 300 ไร่ อยู่ตรงกลางระหว่างหุบเขาสองลูก ลักษณะของพื้นที่จึงเป็นเหมือนลานกว้างที่ขอบทุกด้านยกสูงขึ้นสู่ภูเขาเป็น อัฒจันทร์ธรรมชาติที่เห็นพื้นที่ตรงกลางได้ชัดเจนจากทุกด้าน
มีการออกแบบให้สนามแข่งทอดตัวอยู่กลางที่ว่าง ตรงกลางสุดเป็นทางตรงทอดตัวจากทิศใต้สู่ทิศเหนือ ความยาว 700 เมตร สุดทางตรงเป็นเนินขึ้นเขาเล็กๆ แล้วหักเลี้ยวขวาเลาะตามเชิงเขา เป็นทางโค้งใหญ่ต่อเนื่องสามโค้งก็ถึงอีกด้านของทางตรงพอดี แต่ถนนยังไม่ได้เลี้ยวเข้าทางตรง โดยออกแบบให้ถนนที่วิ่งมาจากด้านขวา อ้อมทางตรงไปเข้าด้านซ้ายแล้วเจอโค้งหักศอกรูป s ต่อเนื่องกันสองโค้ง ก็จะมาบรรจบกับทางตรงพอดี รวมระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร
นักวิชาการ-คนเขาใหญ่มอง “อาณาจักรโบนันซ่า”
สำหรับกิจกรรมด้านบันเทิง “อาณาจักรโบนันซ่าเขาใหญ่” เคยจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต ‘Big Mountain Music Festival’ “มัน ใหญ่ มาก” ถึง 6 ครั้ง ล่าสุดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 7 ธันวาคม 2557 ณ โบนันซ่า เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
เมื่อวันที่ 7 - 8 กุมภาพันธ์ 2558 ก็มีการจัดงาน BONANZA X CHEEZE CARBOOTSALE FESTIVAL ‘เปิดบั้นท้าย’SIZE XL
ประเด็น‘Big Mountain Music Festival’ในโบนันซ่า เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์ จากหลายองค์กร โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยรังสิน เผยแพร่ในเว็บไซต์ http://www.jr-rsu.net/article/882
เมื่อ 21 ธ.ค. 2556 อย่างน่าสนใจ
“นายณัฐพงศ์ บรรเทิง นักวิชาการป่าไม้ปฎิบัติการ” มองว่า การจัดคอนเสิร์ตในบริเวณโบนันซ่า ยังมีนักท่องเที่ยวหลายคนที่เข้าใจผิดในเรื่องของสถานที่ว่าจัดที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งควรทำความเข้าใจก่อนว่า การจัดคอนเสิร์ตจัดในพื้นที่เอกชนที่เป็นชุมชนซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และควรศึกษาแผนที่ของสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตหรืองานต่างๆให้ดีก่อน เพราะส่วนมากทางผู้จัดงานจะนิยมนำเอาชื่อสถานที่สำคัญมาใช้ในการโปรโมทงาน เช่น เทศกาลดนตรี Big Mountain ก็นำชื่อเขาใหญ่มาใช้ ซึ่งในความเป็นจริงสถานที่จัดงานอยู่ห่างจากอุทยานเขาใหญ่กว่า 20 กิโลเมตร บริเวณที่จัดคอนเสิร์ตบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีลักษณะโอบล้อมกันเองด้วยต้นไม้ และหุบเขาซึ่งจะช่วยลดการสะท้อน และซับเสียงด้วยตัวธรรมชาติมันเอง ถ้าถามว่าเสียงรบกวนเหล่านั้นดังเข้ามาถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หรือไม่ นายณัฐพงศ์ ตอบอย่างชัดเจนว่าไม่อย่างแน่นอน และบริเวณรอบๆ ที่จัดคอนเสิร์ตเท่าที่ทราบ ไม่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่
“ดร.อาภา หวังเกียรติ” ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า พื้นที่ธรรมชาติบางที่อาจจะไม่โดนขึ้นทะเบียนเป็นป่าก็ได้ อาจมีลักษณะเป็นป่าของชุมชน คือไม่ได้เป็นป่าผืนใหญ่ แต่อาจมีพื้นที่ประมาณ 10 - 50 ไร่ ซึ่งโดยปกติในพื้นที่ธรรมชาติมักจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่แล้ว เพราะจะมีระบบนิเวศหรือห่วงโซ่อาหาร เช่น พื้นที่ธรรมชาติในชุมชนก็อาจจะมีหน่อไม้ เห็ด หรือสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกับพื้นที่อนุรักษ์ เพราะพื้นที่ที่ได้รับความคุ้มครองจะมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าค่อนข้างสูง ห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศจึงมีความแตกต่างกัน ถ้าเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์อาจเจอเสือหรือกวาง แต่ถ้าเป็นป่าชุมชนจะเจอกับสัตว์ขนาดเล็กๆ มากกว่า
ส่วนผลกระทบจากการจัดคอนเสิร์ต ดร.อาภา มองว่า มีผลกระทบแน่นอน เพราะหากมีการจัดการที่ไม่ดี ผลกระทบที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนก็คือเรื่องเสียง ขยะ และน้ำเน่าเสีย ซึ่งผลกระทบเหล่านี้อาจจะเป็นผลกระทบชั่วคราว เพราะคอนเสิร์ตส่วนมากมักจะจัดแค่ 1 - 2 วันเท่านั้น ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ใกล้ธรรมชาติก็เหมือนกับการจัดคอนเสิร์ตในอิมแพ็คเมืองทองธานี สุดท้ายแล้วความแตกต่างไม่มีเพราะมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลัก ดร.อาภา ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ใกล้ธรรมชาติ ถึงแม้ว่าภาพรวมของผลกระทบในเรื่องนี้อาจจะไม่หนักมากเมื่อเทียบกับ เรื่องการรุกรานของโครงการขนาดใหญ่ที่พยายามจะสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า เพราะการสร้างเขื่อนส่งผลให้พื้นที่ป่าหายไปกว่า 10,000 ไร่
“ปัญหาที่แท้จริงในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ คือ คนไทยให้ความสนใจในเรื่องของธรรมชาติซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสุดท้าย อีกทั้งยังไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังสุภาษิตที่ว่า ถ้าไม่เห็นโลงศพก็ไม่หลั่งน้ำตา แต่สำหรับเรื่องนี้บ้านเราอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงภาษิตหน่อยเป็น... เห็นโลงศพแล้วก็ไม่หลั่งน้ำตา เพราะ ปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งเกิดการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ดร.อาภา กล่าวตบท้าย
ด้าน “นายกฤษฎา หอมสุด” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขณะนั้นบอกเล่าถึงผลกระทบจากการจัดคอนเสิร์ตใกล้พื้นที่ธรรมชาติว่า คอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในบริเวณโบนันซ่านั้นไม่ได้จัดในพื้นที่ธรรมชาติ เพราะพื้นที่ธรรมชาติเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ห้ามจัดงานทุกชนิด อีกทั้งยังค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องของการเข้าออก และที่ว่าทำไมคอนเสิร์ตถึงไปจัดในบริเวณหุบเขา เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าในประเทศไทยทุกพื้นที่จะมีเอกสารตาม กฎหมายประมวลที่ดินสลับกับกฎหมายพื้นที่ที่รัฐคุ้มครองและรักษาไว้อยู่เสมอ ถ้าลองสังเกตกันดูจะพบว่าอาจจะมีโฉนดที่ดินบางที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่าสงวน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็จะแยกกันไม่ได้ว่าเขตป่าไม้กับเขตที่ราษฎรอาศัยและมี สิทธิทำกินหรือมีสิทธิครอบครองกรรมสิทธิ์มักจะก็อยู่ใกล้กันอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ หากถามว่าพื้นที่ที่จัดคอนเสิร์ตอยู่ใกล้ป่าไหม... คำตอบคือใกล้ แต่ต้องดูด้วยว่าป่านั้นเป็นป่าอะไร มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน
“ในฐานะที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ผมขอเรียนทุกคนว่า การจัดคอนเสิร์ตตรงบริเวณโบนันซ่า ไม่ได้มีผลกระทบกับอุทยานเขาใหญ่อย่างที่หลายท่านสงสัย เพราะบริเวณที่จัดงานค่อนข้างไกลจากบริเวณพื้นที่อุทยาน นายกฤษฎาพูดพร้อมรอยยิ้มและบอกเล่าถึงสาเหตุหลักของการลดลงของธรรมชาติและ สัตว์ป่าว่า เป็นเรื่องของความเจริญการพัฒนาของมนุษย์ในหลายๆเรื่อง เช่น เรื่องของการพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาวะภูมิอากาศ อย่างการการสร้างทางหลวง 304 สายปากเกร็ด - นครราชสีมา ถนนที่เชื่อมการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดในภาคตะวันออก และภาคอีสาน หรือ กิจกรรมของมนุษย์ที่สร้างความรบกวนให้กับสัตว์ป่า เช่น การล่าสัตว์ การทำสนามกอล์ฟ การที่มนุษย์เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติแต่ไม่อยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ระบบธรรมชาติและส่งผลทำให้ห่วงโซ่อาหารลดน้อยลง”
นายกฤษฎา ได้ทิ้งท้ายและฝากถึงประชาชนทุกคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ ธรรมชาติว่า ขอให้มีระเบียบวินัย คือ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น และควรเชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จากประสบการณ์การทำงานของผมทำให้ผมเข้าใจได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาอยู่เรื่องหนึ่ง คือ คนไม่มีระเบียบวินัย สิ่งที่ผมฝากถึงประชาชนผู้ชอบท่องเที่ยวทุกคน เพราะเหตุผลเดียวคือผมต้องการให้ทรัพยากรธรรมชาติในสถานที่ท่องเที่ยวสามารถ อยู่กับมนุษย์ได้อย่างยืนยาวต่อไป
“อาณาจักรโบนันซ่า” แหล่งชุมนุมคนเสื้อแดงตลอดกาล
ในทางการเมือง “อาณาจักรโบนันซ่า” ถือเป็นแหล่งชุมนุมคนเสื้อแดงตลอดกาล เท่าที่บันทึกไว้ “โบนันซ่า” ไม่เคยปิดกั้นการจัดงานต่างๆ ของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” เลย
- 26 มีนาคม 2554 คนเสื้อแดง จัดคอนเสิร์ต “รุ่งอรุณแห่งความยุติธรรม” ที่โบนันซ่า เขาใหญ่
- 25 กุมภาพันธ์ 2555 “ธิดา ถาวรเศรษฐ” เปิดงานคอนเสิร์ต “หยุดประหยุดรัฐประหาร เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ”
- 22 ธันวาคม 2555 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่คนเสื้อแดง วิดีโอลิงก์ มายังเวทีคอนเสิร์ตเสื้อแดงชุมนุมใหญ่ส่งท้ายปี 55 โดยมีคนเสื้อแดงมาร่วมงานกว่า 3 หมื่นคน
- 5 ตุลาคม 2557 คนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง เดินทางมาทำบุญ คล้ายวันเกิดของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.
“เจ้าพ่อโบนันซ่า” ได้ดียุครัฐบาลเพื่อไทย
นอกจากนี้ ยังพบว่า มติคณะรัฐมนตรี ในเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2555 ปรากฏว่า ชื่อของ นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโบนันซ่า เขาใหญ่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ส่วน “นายสงกรานต์ เตชะณรงค์” ก็ได้เป็นการแต่งตั้งเป็น "โฆษก" กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นรัฐมนตรี กล่าวกันว่า ที่ “สงกรานต์” ได้รับการแต่งตั้งครั้งนั้น เพราะแรงสนับสนุนของฝ่ายครอบครัวแฟนสาวนางเอกคนสวย “แอฟ” ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ เนื่องจากพ่อแม่ของเธอ “นายอนุสรณ์ ภักดิ์สุขเจริญ” และ “ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ” ซึ่งเป็นสถาปนิกชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ได้ช่วยงาน ประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในการบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณ “สวนอันศักดิ์สิทธิ์” ของลุมพินี ประเทศเนปาล มาก่อนหน้านี้
ขณะนั้น “นายสงกรานต์” ดูแลธุรกิจโรงแรมที่โบนันซ่า เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลลูกอีสาน แถมยังเป็นนายตำรวจ
ในช่วงที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
เรื่องนี้ “นายสงกรานต์ เตชะณรงค์” สมัยเป็นโฆษกไอซีที เคยระบุว่า ภาพตนเองแต่งชุดตำรวจในงานเมื่อที่ 23 ธ.ค.2556 จนทำให้มีหลายคนสงสัยว่าเข้ารับราชการตั้งแต่เมื่อไร
“ส่วนตัวได้รับแต่งตั้งให้ได้รับยศ ร.ท. ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 หรือประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยโอนมาจากทหาร เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ตนได้เข้าเป็นทหารในสังกัด หน่วยทหารพัฒนา ก่อนโอนย้ายเข้ามาเป็นตำรวจยศ ร.ท. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในตำแหน่งการเงิน ส่วนขั้นตอนการโอนย้ายจากทหารมาเป็นตำรวจนั้น ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบิดา คือ นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ตามที่มีกะแสข่าวระบุก่อนหน้าว่ามีความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย
“ยืนยันครับว่า เข้ามาเป็นตำรวจตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยโอนมาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว โอนมาจากทหารที่ผมเป็นอยู่ประมาณ 4 - 5 ปี ไม่เกี่ยวข้องกับพ่อฝากให้ครับ” นายสงกรานต์ กล่าว
สำหรับนายสงกรานต์นั้น ปัจจุบันประดับยศ ร้อยโท (ร.ท.) โดยถูกดึงมาช่วยงานในชุดตำรวจนอกเครื่องแบบ (ใส่เสื้อยืดตำรวจ) ช่วงสถานการณ์อุทกภัย ปี 2554
ทั้งหมดเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ของคนใน “อาณาจักรโบนันซ่าเขาใหญ่”