แม่ทัพภาคที่ 1 ยัน “มาตรา 44” เป็นกรอบกฎหมาย ยึดหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้บ้านเมืองสงบ ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ส่วนกลุ่มที่เคลื่อนไหวเน้นใช้วิธีพูดคุยสร้างความเข้าใจ แนะอย่าวิตกร่าง รธน. รอบทสรุปร่างสุดท้ายหลังตกผลึกเรียบร้อยแล้ว
พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ.1) ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 แทนหากมีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ว่า กกล.รส.เป็นหน่วยที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ถ้ามีกฎหมายใดให้บังคับใช้มาก็ต้องยึดหลักตามนั้น โดยผู้ใต้บังคับบัญชาของตนทุกนายต่างก็ยึดถือกฎหมายในการทำงาน มิหนำซ้ำก็ยึดหลักการสิทธิมนุษยชน
“ผมยืนยันว่าการดำเนินต่างๆ มีจุดมุ่งหมายให้ประเทศชาติสงบสุข สถานการณ์มีความเรียบร้อย และสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ ทุกคนในชาติมีความรักความสามัคคี ไม่ทะเลาะกัน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิรูป ดังนั้นเครื่องมือต่างๆ ที่มีก็จะยึดถือตามนั้น ขอย้ำว่าเราไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย หากแต่มีหน้าที่ปฏิบัติกฎหมาย ส่วนมาตรา 44 จะเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่นั้น ผมชี้แจงว่า เวลานี้กำลังมีการวิเคราะห์กันอยู่ จึงเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่จะต้องดำเนินการ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อป้องกันกลุ่มต่อต้านใช่หรือไม่ พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า เรามีการประเมินสถานการณ์ทุกวันจึงพบว่ามีความเรียบร้อยดี และยังไม่มีอะไรหนักใจ ส่วนการเคลื่อนไหวต่างๆ นั้นตนรับทราบมาโดยตลอด แต่การดำเนินการจะเน้นการพูดคุยทำความเข้าใจทุกกลุ่มทุกฝ่ายเป็นหลักส่วนข้อกังขาที่ว่ามาตรา 44 รุนแรงเกินไปนั้น ตนคิดว่าคนไทยมีความโอบอ้อมอารี ไม่ชอบความรุนแรง ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทยอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกคนรักบ้านเมือง ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข ดังนั้นการดำเนินการใดๆ จะเน้นย้ำผู้ใต้บังคับบัญชาผมเสมอว่าห้ามใช้ความรุนแรงที่นอกเหนือกฎหมาย
พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า สำหรับการแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดียนั้น ตนก็จะเน้นย้ำการสร้างความเข้าใจ พูดคุยเป็นหลักเช่นกัน ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจว่าสื่อออนไลน์หลายจำพวกเวลาส่งกันจะไม่มีการข้อมูลที่ถูกต้องจนทำให้สังคมเกิดความสับสน เราก็ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อมูลนั้นเพื่อหาดูต้นตอแล้วก็จะพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน
“บางเรื่องคนที่เราเรียกมาพูดคุยแล้วบางทีก็ยังไม่เข้าใจเลย ต้องเล่าให้ฟังเป็นชั่วโมงถึงจะเข้าใจ เพราะเขาไม่รู้ว่าเรื่องจริงอย่างนี้ พอเขาเข้าใจแล้วดีขึ้น ส่วนกระบวนการเรียกบุคคลเข้ามาปรับทัศนคติก็จะไม่มีแล้ว แต่จะให้มาใช้กันพูดคุยกันแทน เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน เวลาที่ผมพูดกับใครแล้วต้องให้ความจริงใจต่อกัน ถ้าผมไม่จริงใจผมก็อยู่ไม่ได้ ทั้งนี้จะใช้รูปแบบการพูดคุยจะใช้สองแนวทาง คือเราไปหาเขาบ้าง กับเขามาหาเราบ้า แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ไปที่บ้าน เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว เนื่องจากเป็นที่อยู่เหนือนอกกฎหมาย และเป็นกระแสสังคมที่อ้างไปเอง”
พล.ท.กัมปนาทยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะส่งร่างรัฐธรรมนูญมาให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาเนื้อหาว่ารัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ยังถกเถียงกันไม่จบ เพราะแต่ละคนต่างมีแนวความคิดเป็นของตนเอง ในเมื่อทุกคนได้งานไปทำก็ไปทำงานของเขา เมื่อเสร็จแล้วก็มาแลกเปลี่ยนกันก็เหมือนเวลาเรียนหนังสือทุกคนก็จะไปศึกษาทฤษฎีต่างๆ มากมาย สุดท้ายก็ต้องมาดีเบตกัน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเรา เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ตกผลึกเท่านั้น ตนก็ขอให้อย่าวิตกกังวลใดๆ เลย