ลีกวนยู ผู้ก่อตั้ง และนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ในขณะที่มีอายุ 91 ปี
ผลงานที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่ประจักษ์แก่โลก โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นคือ การสร้างสิงคโปร์จากอาณานิคมเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรใดๆ เลย ให้เจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากที่สุด ในชั่วเวลาเพียง 3 ทศวรรษ ที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ 24 มีนาคม ครูใหญ่โรงเรียนชั้นประถมและโรงเรียนมัธยมทุกแห่งของสิงคโปร์ อ่านคำไว้อาลัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมกันทั่วประเทศ มีสาระสำคัญว่า แม้ว่า สิงคโปร์ ในยุคก่อร่างสร้างตัว จะมีทรัพยากรที่จำกัด แต่ลีกวนยู ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่อง การศึกษา เพราะเชื่อว่า ทรัพยากรที่ดีที่สุดของสิงคโปร์ คือ คนสิงคโปร์
การตัดสินใจที่มีความสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของลีกวนยู และมีผลอย่างยิ่งต่อระบบการศึกษาของสิงคโปร์คือ นโยบายสองภาษา ให้คนสิงคโปร์ใช้ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาแม่ หรือภาษาของแต่ละเชื้อชาติ ได้แก่ จีน มาเลย์ หรือภาษาทมิฬของคนสิงคโปร์เชื้อชาติอินเดีย
ลีกวนยู กับภรรยา ซึ่งเป็นคนจีน เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งอังกฤษก่อตั้งขึ้นในยุคอาณานิคม เมื่อจบแล้ว ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้พบปะกับนักศึกษาจีนในอังกฤษ ทำให้ รู้สึกว่า แม้จะมีเชื้อสายจีน แต่ไม่มีความรู้สึกว่า เป็นคนจีนเลย เพราะเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่รู้สึกว่า เป็นคนอังกฤษเลยแม้แต่น้อย กลายเป็นคนไร้ราก ที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง
ทั้งลี และภรรยา จึงตัดสินใจว่า จะไม่ให้ลูกๆ มีข้อด้อยทางวัฒนธรรมเหมือนกับตน ลูกทั้งสามคนเรียนในโรงเรียนจีน เพื่อปลูกฝังวินัย ค่านิยม จริยธรรมแบบจีน แต่เพื่อชดเชย การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ภรรยาของลี จะพูดภาษาอังกฤษกับลูก ส่วนลี พูดแมนดาริน หรือจีนกลาง
เมื่อแรกตั้งประเทศ ในปี 1959 รัฐบาลสิงคโปร์ กำหนดให้มี ภาษากลาง หรือภาษาราชการ 4 ภาษาคือ มาเลย์ แมนดาริน ทมิฬ และอังกฤษ ลี กวน ยู รู้ดีว่า ถ้าจะให้สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค จำเป็นที่คนสิงคโปร์จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ ในการติดต่อ เจรจาธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด ประกาศให้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาราชการ จะทำให้เกิดการต่อต้านจากคนสิงคโปร์เชื้อสายจีน มาเลย์ และอินเดีย ซึ่งต่างก็ผูกพันยึดมั่นในเชิ้อชาติ วัฒนธรรม และภาษาของตน
ทางออกของลีกวนยู คือ ประกาศให้ สิงคโปร์มีภาษาราชการ สี่ภาษา โดยมีเป้าหมายว่า จะให้คนสิงคโปร์รุ่นใหม่พูดได้สองภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาแม่ โดยสั่งให้โรงเรียนที่สอนโดยใช้ภาษา จีน มาเลย์ หรือ ทมิฬ บรรจุชั้นเรียนภาษาอังกฤษไว้ในหลักสูตร และโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ สอนภาษาจีน มาเลย์ และทมิฬ
นโยบายนี้ ถูกต่อต้านจากหอการค้าจีน เจ้าของโรงเรียนจีน สหภาพครู นักศึกษาจีน และหนังสือพิมพ์จีน ซึ่งอ้างว่า คนสิงคโปร์ 80% ใช้ภาษาจีน ภาษาจีนจึงควรได้รับความสำคัญไม่น้อยกว่าภาษาอังกฤษ แต่ลีกวนยู ยืนยันว่า ทั้ง สี่ภาษา มีความเท่าเทียมกัน และจะไม่ยอมให้ใครใช้เรื่องภาษา เป็นเครื่องมือทางการเมือง การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาจีน ถูกตำรวจสลายการชุมนุม
ปี 1978 ลี ตัดสินใจ ยุบมหาวิทยาลัยหนานยาง ซึ่งสอนโดยใช้ภาษาจีน โดยให้ย้ายอาจารย์ และนักศึกษาไปเรียนรวมกับ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษ หนานยางเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งนักธุรกิจจีนที่ร่ำรวยจากการค้ายางพารา ก่อตั้งขึ้น ก่อนที่สิงคปร์จะแยกจากมาเลเซียไม่กี่ปี โดยต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับลูกหลานจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะขณะนั้น คนจีนโพ้นทะเล ไม่สามารถส่งลูกหลายไปเรียนต่อที่ประเทศจีนได้
ลีพบว่า นักศึกษาที่จบจากหนานยาง ตกงานมาก หรือไม่สามารถไปเรียนต่อต่างประเทศได้ เพราะไม่รู้ภาษาอังกฤษ เมื่อเวลาผ่านไป มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ นิยมสอบเข้ามหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ส่วนนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนจีน ต่างพากันไปเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษนอกโรงเรียน เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยสิงคโปร์
มหาวิทยาลัยหนานหยาง มีนักเรียนมาสมัครเรียนน้อยลง จนต้องปรับลดมาตรฐานการสอบเข้า ลี กวน ยู จึงส่งคนเข้าไปปรับระบบการเรียนให้เป็นภาษาอังกฤษ แต่มีปัญหามาก เพราะอาจารย์เกืยบทั้งหมดไม่สามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ แม้ว่าหลายคนจะจบดอกเตอร์มาจากอเมริกา แต่เนื่องจากสอนโดยใช้ภาษาจีนมานาน ไม่สามารถกลับไปใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว จึงต้องยุบรวมเข้ากับมหาวิทยาลัยสิงคโปร์
มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ซึ่งผนวกเอามหาวิทยาลัยหนานหยางมาไว้ด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ส่วนมหาวิทยาลัยหนานหยาง เมื่อซึมซับ เรียนรู้ การเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ จนพึ่งตัวเองได้แล้ว ก็แยกตัวออกมาเป็น สถาบันเทคโนโลยี่หนานหยาง โดยเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
หลังจากการควบรวมสองมหาวิทยาลัยนี้แล้ว ลีสั่งให้โรงเรียนจีนทุกแห่ง เปลี่ยนมาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนแรก และสอนภาษาจีน ในฐานะที่เป็นภาษาทีสอง แต่เพื่อรักษาระบบการเรียนโดยใช้ภาษาจีน ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง เขาจึงทำโครงการช่วยเหลือพิเศษ ให้โรงเรียนภาษาจีนที่ดีที่สุดเก้าแห่ง รับนักเรียนชั้นประถมที่สอบไล่ได้คะแนนดีที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก เข้าเรียน โดยให้เรียนภาษาจีน ในฐานะภาษาต่างประเทศที่เป็นภาษาหลัก แต่ใช้ภาษาอังฤษในการเรียนการสอน
ลีกวนยู เห็นข้อดีของการศึกษาแบบจีน หรือโรงเรียนจีนว่า สร้างคนให้มีวินัย มีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตรงกันข้ามกับ นักเรียนในโรงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ ที่สนใจแต่เรื่องของตัวเอง ไม่ใส่ใจต่อสิ่งรอบตัว และความขาดมั่นใจในตัวเอง
แต่สำหรับสิงคโปร์ ซึ่งประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาต ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลาง ภาษาเดียวที่คนเชิ้อชาติต่างๆ ยอมรับได้ นอกเหนือจากเป็นภาษาที่เชื่อมโยงสิงคโปร์เข้ากับโลก
ในหนังสือ “ From Third World To First . The Singapore Story : 1965 -2000" ซึ่งตัวเขาเอง เป็นผู้เขียน ตีพิมพ์เมื่อปี 2000 ลีกวนยู กล่าวว่า ถึงแม้ จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนสิงคโปร์ไม่เก่งเลยสักภาษา แต่นี่คือหนทางที่ดีที่สุดที่เราจะก้าวไปข้างหน้า ภาษาอังกฤษที่เราใช้ในการทำงาน ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในหมู่คนของเราที่มีเชื้อชาติต่างกัน และทำให้เราได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะเป็นภาษาสากลในการทำธุรกิจและการทูต รวมทั้งวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ถ้าเราไม่มีภาษาอังกฤษ ก็จะไม่มีบริษัทข้ามชาติระดัยโลก และธนาคารชั้นนำของโลกมากกว่า 200 แห่งมาอยู่ที่นี่ และคนของเราจะไม่พร้อมสำหรับยุคคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต