xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้พิพากษาสอนกฎหมายผู้กำกับ สน.ปทุมวัน เอาผิดอีเวนต์โชว์เปลือยได้ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชูชาติ ศรีแสง (แฟ้มภาพ)
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา สอนกฎหมาย ผกก.ปทุมวัน ยันมีอำนาจเอาผิดอีเวนต์โชว์เปลือยกลางห้างฯ ดังได้ตาม ป.อาญา ม.388 ฐานอนาจาร ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องทุกข์

นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฏีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่นายแบบชาวต่างชาติบางคนเปลือยกายในงาน “เซ็นทรัลเวิลด์ เนกซ์ ซัมเมอร์ 2015” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทําการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกํานัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทําการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท” ที่มีข่าวว่าผู้สื่อข่าวได้สอบถาม พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผกก.สน.ปทุมวัน ว่าสามารถเอาผิดแก่ผู้กระทำการดังกล่าวได้หรือไม่ พ.ต.อ.จารุตบอกว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่เกิดขึ้น เท่าที่ทราบเป็นการแสดงอีเวนต์ในงาน ไม่ได้เป็นการแห่รถ ยังไม่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ และไม่ใช่เหตุการณ์กระทำความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้

“หาก พ.ต.อ.จารุตบอกแก่ผู้สื่อข่าวดังที่กล่าวมาแล้วจริง แสดงว่าท่านคงเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน กล่าวคือ ที่ว่าไม่ใช่การแห่รถแต่เป็นการจัดในงานนั้น แม้เป็นการจัดในงาน แต่เมื่อมีผู้เข้าชมงานจำนวนมากก็เป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัลตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ที่ว่าไม่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388 ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ จึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ เจ้าพนักงานตำรวจก็มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้

ส่วนที่ว่าไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้านั้น การกระทำความผิดซึ่งหน้ามีผลเพียงให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดโดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดไม่ได้

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทราบเรื่องแล้วก็ต้องดำเนินการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 และเจ้าพนักงานตำรวจที่ต้องรับผิดชอบก็คือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันซึ่งการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณามาตรา 18 เมื่อทราบตัวผู้กระทำความผิดแล้วก็มีอำนาจออกหมายเรียกให้ผู้นั้นมาพบพนักงานสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 52 สรุปว่า ตามกฎหมายเจ้าพนักงานตำรวจสามารถดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ดังที่กล่าวมาแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะกระทำหรือไม่เท่านั้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น