xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.แนะเปิดศาลแขวงเพิ่ม โอน 3 กรมสังกัดศาลยุติธรรม ปรับดะโต๊ะ เท่า ขรก.ตุลาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อนุ กมธ.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมฯ เผยที่ประชุมเห็นควรกำหนดอายุ ผช.ผู้พิพากษา 25-70 ปี ให้ตั้งคณะทำงานร่าง กม.กำหนดเกณฑ์ย้าย-ตั้งผู้พิพากษาศาลชำนาญพิเศษต่างๆ เปิดทำการศาลแขวงพื้นที่ห่างไกลเพิ่ม ปรับสถานะดะโต๊ะเทียบขรก.ตุลาการ ควรโอนกรมบังคับคดี-กรมคุมประพฤติ-กรมพินิจเยาวชนฯ สังกัดศาลยุติธรรม ย้ำต้องมีความอิสระ



วันนี้ (18 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล ในคณะ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แถลงผลภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรกำหนดอายุการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ 25 ปี และเกษียณอายุที่ 70 ปี เนื่องจากระยะเวลาการฝึกอบรวมผู้ช่วยผู้พิพากษา และผู้พิพากษาใช้เวลาหลายปี ทำให้ผู้พิพากษาที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรกมีอายุโดยเฉลี่ยมากกว่า 30 ปี ส่วนระยะเวลาการอบรมของผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ประชุมเห็นว่าควรอยู่ที่ 1 ปี และการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาลเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนั้นยังเห็นควรให้ตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การโยกย้ายแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลชำนาญพิเศษต่างๆ เพื่อให้ผู้พิพากษามีความชำนาญเฉพาะด้าน สามารถปฏิบัติหน้าที่ในศาลชำนาญพิเศษได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องด้วย

นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการเปิดทำการศาลแขวงในพื้นที่ห่างไกลเพิ่มขึ้น และให้ทำหน้าที่เป็นสาขาของศาลจังหวัด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลที่จำเป็นต้องขอหมายต่างๆ จากศาล ให้สามารถดำเนินการได้ด้วยความรวดเร็ว ทั้งนี้ยังมีการปรับปรุงสถานะของดะโต๊ะ ที่มีหน้าที่พิจารณาคดีของชาวมุสลิมใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในคดีที่เกี่ยวกับครอบครัวมรดก ให้ทัดเทียมกับข้าราชการตุลาการ เช่น ยกระดับในวุฒิการศึกษา ฝึกอบรมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนค่าตอบแทนที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการตุลาการ อาจให้มีการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายอิสลามได้ด้วย และขยายอายุงานออกไปจาก 60 ปี

โฆษกคณะอนุ กมธ.กล่าวอีกว่า ที่เห็นว่าควรให้โอนกรมบังคับคดี กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมาสังกัดในสำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นการดำเนินการในกรอบของฝ่ายตุลาการ จะต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ไม่แตกต่างไปจากการพิจารณาพิพากษาคดี การให้หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่บังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของฝ่ายตุลาการไปสังกัดกับฝ่ายบริหาร มีความสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะถูกแทรกแซง โดยอาศัยอำนาจบังคับบัญชาในการบริหารงานบุคคล หรือโดยการออกระเบียบของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ภารกิจบางอย่างของหน่วยงานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อความเป็นอิสระ มิเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น