ผ่าประเด็นร้อน
ยังไม่มีท่าทีชัดเจนจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ว่าสุดท้ายจะหาทางออกอย่างไรกับการที่ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีตำแหน่งว่างลง 5 คนรวด ในปี 2558
ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี ในเดือนพฤษภาคม แล้วช่วงกันยายน ป.ป.ช. อีก 4 คน คือ วิชา มหาคุณ - วิชัย วิวิตเสวี - ภักดี โพธิศิริ - ประสาท พงษ์ศิวาภัย ก็จะพ้นจากตำแหน่ง เพราะอยู่ในตำแหน่งครบ 9 ปี
นักกฎหมายบางคนบอกว่า ให้กระบวนการคัดเลือกดำเนินไปได้ เพราะก่อนหน้านี้กรรมการองค์กรอิสระหลายแห่ง ที่มีตำแหน่งว่างลง เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็มีการสรรหาเลือกกันมาแล้ว 2 รอบ ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แม้จะไม่มีบางตำแหน่งในกรรมการสรรหา เช่น ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อดูจากกระบวนการ การเลือก ป.ป.ช. ที่ให้มีกรรมการสรรหา 5 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ก็จะขาดแค่คนเดียว คือ ผู้นำฝ่ายค้าน น่าจะเข้าองค์ประกอบการคัดเลือกได้ แม้เสียงที่ออกมาจะเป็นเลขคู่ อาจทำให้เกิดปัญหาในการลงคะแนนเสียงเลือกได้ แต่อย่างไรคงคุยกันได้ ไม่น่ามีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ปมปัญหามันจะอยู่ที่การเลือกในเดือนกันยายน ที่ต้องเลือกพร้อมกันทีเดียว 4 คน แต่ช่วงดังกล่าว เป็นช่วงสุกดิบที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำลังจะคลอด และมีการยกร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งขั้นตอนอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2 - 3 เดือน อาจเป็นช่วงที่เขาเรียกกันว่า “สุญญากาศ”
เช่น อย่างคนจะไปสมัครเป็น ป.ป.ช. ก็อาจกำลังรอดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะว่าอย่างไร จะให้ ป.ป.ช. อยู่ในตำแหน่งกี่ปี จะ 9 ปีเหมือนเดิมหรือไม่ แล้วอำนาจต่างๆ จะเป็นอย่างไร หรืออาจกำลังประเมินว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านหรือไม่ผ่าน จะมีผลบังคับใช้หรือไม่ แล้วจะมีผลต่อการทำงานหรือไม่ หากได้รับเลือกไปเป็น ป.ป.ช.
แต่ที่ ป.ป.ช. เกรงกัน จนนำมาสู่ข่าวออกมาทำนองว่า ควรอุดช่องโหว่ตรงนี้ด้วยการให้ คสช. ใช้อำนาจพิเศษ ทำการต่ออายุให้กับ ป.ป.ช. ชั่วคราว ที่จะหมดวาระลง เพื่อให้ทำงานได้ต่อเนื่องไประยะหนึ่งจนกว่าจะมีการประกาศใช้รธน. ฉบับใหม่ และมีการแก้ไข พ.ร.บ. ป.ป.ช. ก็ด้วยเหตุผลว่า หากกรรมการ ป.ป.ช. ว่างลง ก็จะต้องมีการเปิดรับสมัครจนกว่าจะได้ ป.ป.ช. คนใหม่ ที่ต้องใช้เวลาสักระยะอาจจะประมาณ 2 เดือนเป็นอย่างต่ำ ในการเปิดรับสมัคร - การลงมติเลือกของกรรมการสรรหา - การส่งชื่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติโหวตเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ซึ่งก่อนจะโหวต ก็ต้องมีการสอบประวัติทางลับอะไรกันอีกที่ใช้เวลาพอสมควร จนเมื่อ สนช. โหวตเห็นชอบแล้ว ก็ต้องมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ
ข่าวออกมาทำนองว่า ป.ป.ช. เกรงว่า จะทำให้การทำงานของ ป.ป.ช. สะดุดลงได้ งานไม่ต่อเนื่อง เพราะเมื่อถึงวาระต้องพ้นจากตำแหน่งทุกคนต้องลุกจากเก้าอี้เลย ไม่สามารถนั่งรักษาการเพื่อรอกรรมการคนใหม่ได้ และในช่วงที่ต้องรอ ป.ป.ช. ชุดใหม่เข้ามาแทน ป.ป.ช. 4 คน ที่จะหมดวาระลงในเดือนกันยายน มันมีงานพิจารณาสำนวนหลายต่อหลายเรื่อง ที่อาจต้องมีการลงมติไต่สวนหรือชี้มูลกัน จะเกิดภาวะชะงักงัน เลยคุยกันว่า น่าจะให้ คสช. ต่ออายุให้สักหนึ่งปี
อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่พอจับความได้จากฝ่าย ป.ป.ช. แต่คนจะมองอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
บางคนอาจจะมองว่า ป.ป.ช. ต้องการต่ออายุตัวเอง ทั้งที่หากตำแหน่งว่างลง ก็ให้ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่เห็นต้องกังวลอะไร คนที่เหลือก็ทำงานต่อไป แล้วก็มีการเปิดรับสมัคร มีการสรรหาคัดเลือกกันไป จะช้าจะเร็ว ก็ยังมีความชอบธรรมในการได้มา ซึ่ง ป.ป.ช. โดยเฉพาะการหา ป.ป.ช. คนใหม่มาแทน ปานเทพ ที่จะพ้นจากตำแหน่งเดือน พ.ค. ก็ยังน่าจะทำได้ทันท่วงที ส่วนการทำงานต่างๆ ของ ป.ป.ช. ในช่วงดังกล่าว กรรมการที่เหลือก็ค่อยๆ ประคองกันไป อาจจะงดการลงมติชี้มูลไปสักระยะ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป จะทำยังไงกันได้ ทุกอย่างก็ต้องทำไปตามกฎหมาย
ยิ่ง กรรมการ 5 คน ที่จะพ้นจากตำแหน่ง ทั้ง ปานเทพ - วิชา - วิชัย - ภักดี - ประสาท ล้วนเป็น ป.ป.ช. ที่มาจากการแต่งตั้งของ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร คมช. เมื่อปี 49 แล้วยังจะมาขอให้ คณะ คสช. ที่ก็เป็นคณะรัฐประหารอีก มาหาช่องทางยังไงก็ได้ มาต่ออายุให้ตัวเองอีกสักระยะ หลายคนบอกว่า แม้อยากให้ ป.ป.ช. ทำงานต่อเนื่องไม่สะดุด แต่ว่ากันตามตรง มันไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ หากใช้วิธีพิเศษ
ข่าวทางลับที่รู้มา แกะรอยได้ระดับหนึ่งว่า จริงๆ แล้วแนวคิดในการต่ออายุ ป.ป.ช. ดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ไม่นาน
โดยหลังรัฐประหาร พลเอก ประยุทธ์ ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกประกาศ และคำสั่งในลักษณะ “รัฏฐาธิปัตย์” ที่มีอำนาจล้นฟ้า เรียกได้ว่า จะยุบองค์กร หรือตั้งองค์กรอะไรขึ้นมาก็ได้ แม้แต่พวกองค์กรศาล หรือองค์กรอิสระต่างๆ แต่ยุค “บิ๊กตู่” ก็ไม่ถึงกับยุค คมช. เหมือน พลเอก สนธิ ที่ตอนนั้น คมช. บางองค์กรก็จัดการหมด เช่น สั่งยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ พลเอก ประยุทธ์ ทำเท่าที่จำเป็น ที่เห็นๆ ก็มี เช่น สั่งโละ สมาชิกสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีปัญหาขัดแย้งกันหนักมาหลายปี และเป็นองค์กรที่ไม่ค่อยทำงานอะไร ก็โดน บิ๊กตู่ โละทิ้งหมดจนถึงทุกวันนี้ แต่ตัวสำนักงานก็ยังอยู่
ข่าวว่าเคยมีการนำปัญหาที่จะเกิดกับการทำงานของ ป.ป.ช. อย่างที่บอกไว้ข้างต้น ไปคุยกันในฝ่ายกฎหมาย คสช. ผ่านคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมของ คสช. ที่มี พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นประธาน โดยพยายามบอกเล่าว่า จะมีปัญหาการทำงานอะไรเกิดขึ้นบ้าง ควรแก้ปัญหาอย่างไร โดยฝ่ายกฎหมาย คสช. ก็ได้แต่รับฟัง แต่ก็ไม่ได้ตัดสินใจอะไร
เรื่องนี้ถึงขั้นมีการนำไปหารือนอกรอบกับฝ่ายกฎหมาย คสช. ที่เป็นสายพลเรือนตอนนั้น และเป็นมือกฎหมายสำคัญในการช่วยงานพลเอก ประยุทธ์ โดยเฉพาะการร่าง รธน. ฉบับชั่วคราวปี 57 นั่นก็คือ วิษณุ เครืองาม และ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ตอนนั้นเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ฝ่ายกฎหมาย คสช. สายทหาร และพลเรือน ฟังแล้วก็ไม่มีคำตอบอะไรออกมา เหมือนกับมองว่า มันน่าจะมีทางออกได้ เช่น ปล่อยให้มีการเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงไปตามปกติ ไม่มีการรับลูกเสนอ พลเอก ประยุทธ์ ให้ออกประกาศ คสช. ต่ออายุให้เลยตั้งแต่ช่วงนั้น รวมถึงก็ไม่ได้เขียนเรื่องทำนองนี้ไว้ในรธน. ฉบับชั่วคราวด้วย เรื่องก็ค้างเติ่งมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้
เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เคยมีการนำไปคุยกันในฝ่ายกฎหมายคสช. ตั้งแต่ช่วงกลางๆ ปี 57 แล้ว แต่ข่าวที่หลุดออกมาอีกรอบในตอนนี้ คงเพราะเวลามันใกล้งวดเข้ามาทุกทีนั่นเอง
ท่ามกลางการวิเคราะห์ทางออกเรื่องนี้ว่า มันมีได้หลายทางเช่น พลเอกประยุทธ์ ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามรธน.ชั่วคราว ปี 57 มาตรา 44 ด้วยการออกประกาศ หรือคำสั่ง คสช. ต่ออายุให้ ป.ป.ช. ที่จะหมดวาระลงดังกล่าวทำงานต่อไป แต่เป็นช่วงสั้นๆ ไม่ใช่ต่ออายุแบบยาวเลย เช่น ให้นั่งรักษาการโดยให้อำนาจเต็มเหมือนป.ป.ช.ทุกอย่าง ไปจนกว่าจะมีการสรรหา และเลือก ป.ป.ช. ชุดใหม่ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจะเล่นใช้วิธีตั้งคนอื่นที่พลเอกประยุทธ์ เลือกมาเอง มาทำหน้าที่.ป.ช.ไปเลย แต่ให้ทำงานไปจนกว่าจะมี ป.ป.ช. ที่มาจากการคัดเลือกโดยถูกต้องตามกฎหมาย ดูแล้วยิ่งไม่ค่อยเหมาะสมกว่าวิธีการแรกอีก
อีกทางหนึ่งก็คือ ก็ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน หมดวาระก็สรรหา และคัดเลือกใหม่ จะช้าจะเร็ว ก็ปล่อยไป
ที่ดูแล้ว ทางออกสุดท้ายน่าจะดีที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะ ป.ป.ช. ถือเป็นองค์กรสำคัญในเรื่องการอำนวยความยุติธรรม การปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปแบบถูกต้อง ย่อมดีกว่า ใช้อำนาจพิเศษแก้ปัญหา