“ภัทระ คำพิทักษ์” นั่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 8 แต่งตั้งคณบดีนิเทศฯ หอการค้า นั่ง ปธ.อนุฯ ฝ่ายวิชาการ ยันต้องกำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ จ่อผุดกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
วันนี้ (6 มี.ค.) ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 8 ครั้งที่ 1/2558 เพื่อเลือกตั้งประธาน รองประธาน เลขาธิการ และกรรมการอื่นๆ ที่จำเป็นของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า นายภัทระ คำพิทักษ์ จากเครือบางกอกโพสต์ ได้รับเลือกเป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 8 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ส่วนรองประธานคนที่ 1 ได้แก่ นางอุบลนัดดา สุภาวรรณ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ จังหวัดเชียงใหม่ และรองประธานคนที่ 2 ได้แก่ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมี นายชาย ปถะคามินทร์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นเลขาธิการ นายเสด็จ บุนนาค เครือเนชั่น เป็นรองเลขาธิการ ส่วนเหรัญญิกได้แก่ นางสาวผุสดี คีตวรนาฏ หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แต่งตั้ง ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ โดยมี รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ
ภายหลังการประชุม ศาสตราจารย์พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ รองประธาน พร้อมด้วย นายวิโรจน์ วัฒนธาดากุล เลขาธิการ และ นายบรรหาร บุญเขต กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 7 ได้ส่งมอบงานให้กับ นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายภัทระ ระบุว่า กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ชุดนี้ มารับผิดชอบในภาวะที่ยากลำบากเพราะต้องยอมรับสถานการณ์ที่เป็นจริงว่า สังคมกำลังไม่พอใจกับบทบาทของสื่อ สื่อเองก็มีความเห็นต่าง ความพร้อมเพรียงในวิชาชีพไม่เหมือนเมื่อก่อน และกำลังมีการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายจะออกมาอย่างไร สิ่งเร่งด่วนคือ ต้องปรับให้ “การกำกับดูแลกันเอง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่พอยอมรับได้ของทุกฝ่าย” แนวความคิดในเรื่องนี้มีองค์ประกอบ 2 ด้าน คือ 1. การกำกับดูแล 2. การส่งเสริม สองอย่างนี้ต้องควบคู่กันไป
การกำกับดูแลกันเอง คงต้องปรับความเข้าใจ สมาชิกต้องเข้าใจว่า ถึงสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่ทำ สังคมไม่รอ ยุคนี้สังคมโดยโซเชียลมีเดียก็ตรวจสอบจะหนักกว่าสภาการหนังสือพิมพ์ฯ อยู่แล้ว สภาการหนังสือพิมพ์ฯ น่าจะเป็นกลไกช่วยเหลือมากกว่าซ้ำเติม ส่วนกระบวนการร้องทุกข์ กฎเกณฑ์ต่างๆ ยังรัดกุมเหมาะสมดีอยู่ แต่น่าจะใช้ยุทธศาสตร์ “ทำเชิงรุกและเชื่อมโยงกับภาคประชาชนมากขึ้น” รูปธรรมก็ เช่น ร่วมกับองค์กรผู้บริโภค จัดตั้ง “กรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ” ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ประชาชน และเป็นมือไม้ให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เป็นต้น ในด้านการส่งเสริมเป็นหน้าที่ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ฉะนั้น ควรมีทีมทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ทำแบบมีแผนงานและทั่วถึง ให้สื่อได้ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลได้อย่างสง่าผ่าเผย โดยให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ การเปลี่ยนแปลงธุรกิจและจริยธรรม
นายภัทระ ระบุว่า จะเสนอให้กรรมการส่งเสริมให้องค์กรสมาชิกมีการจัดทำจริยธรรมขององค์กรและผู้ปฏิบัติงาน โดยมีกระบวนการส่งเสริมและช่วยเหลือ ที่มีแล้วก็ให้พัฒนาให้มีความครบถ้วนทันสมัย อาจจะมีวงแลกเปลี่ยน ทำกรณีศึกษากันทุกปี รวมทั้งน่าจะหารือกับภาคีต่อต้านคอร์รัปชั่นเพื่อให้องค์กรที่เป็นสมาชิกได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือว่าพัฒนาจริยธรรมขององค์กรจนเป็นที่ไว้วางใจของสังคม
นายภัทระ ระบุว่า การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นจากภายในและภายนอกภายในต้องสร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส ตรวจสอบได้ ควรมีการศึกษาเพื่อเตรียมปฏิรูปองค์กรเพื่อรองรับบทบาทใหม่หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเดินหน้าจัดตั้งมูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ให้เรียบร้อยโดยไว เพื่อเป็นนิติบุคคลที่สร้างความโปร่งใส
ด้านการปฏิรูปภายนอกนั้น ส่วนตัวแล้วสนับสนุนทิศทางจากการศึกษาเรื่องข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางและกลไกการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เหมาะสมของไทย โดย นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ที่ว่า การกำกับดูแลกันเอง โดยหลักการกำกับร่วม ภายใต้แนวความคิดที่ว่า สภาวิชาชีพสื่อต้องแตกต่างจากสภาวิชาชีพตามกฎหมายอื่น คือ ไม่อยู่ภายในการกำกับดูแลของฝ่ายปกครอง ไม่รับการกระจายอำนาจทางปกครองจากรัฐ คือ ไม่มีอำนาจในการลงโทษทางปกครองหรืออาญา สุดท้ายให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและสนับสนุนการรวมตัวกันของผู้ประกอบอาชีพสื่อแต่ต้องกำหนดมาตรฐานจริยธรรมซึ่งไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต้นที่ยอมรับได้โดยทั่วไป
นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 8 ปัจจุบันอายุ 49 ปี ดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการ เครือบางกอกโพสต์ สำหรับรายชื่อกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสมัยที่ 8 ทั้ง 21 คน ประกอบด้วย กรรมการประเภทที่ 1 (เจ้าของ ผู้บริหารหรือผู้แทน) ได้แก่ นายภัทระ คำพิทักษ์ เครือบางกอกโพสต์ นางอุบลนัดดา สุภาวรรณ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์รายวัน จ.เชียงใหม่ นายสุนทร จันทร์รังสี หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน จ.นครราชสีมา นายธวัชชัย เอี่ยมศิริรักษ์ หนังสือพิมพ์เสียงเพชร จ.เพชรบูรณ์ นายอำนาจ จงยศยิ่ง หนังสือพิมพ์ภาคเหนือรายวัน จ.เชียงใหม่
กรรมการประเภทที่ 2 (บรรณาธิการ หรือตัวแทนผู้มีอำนาจจากกองบรรณาธิการ) ได้แก่ นายสวิชย์ บำรุงสุข หนังสือพิมพ์สยามรัฐ นายเสด็จ บุนนาค เครือเนชั่น นายชาย ปถะคามินทร์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นายภูวสิษฏ์ สุขใส หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา นางสาวผุสดี คีตวรนาฏ หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน
กรรมการประเภทที่ 3 (ผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิก) ได้แก่ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ นายจิระพงค์ เต็มเปี่ยม หนังสือพิมพ์แนวหน้า นายสุประวัติ ศริลักษณ์ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงส์ หนังสือพิมพ์ประชามติ (ตราด)
สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากคณะกรรมการทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ นางสาวบุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ และ นางสุวรรณ จิตประภัสร์