xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองยกฟ้องชาวอุตรดิตถ์เบรกสร้าง มรภ.และวิทยาลัยพยาบาลในบึงทุ่งกะโล่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองพิพากษา ยกฟ้อง คดีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวอุตรดิตถ์ ฟ้องปฏิรูปที่ดินจังหวัด พร้อมขอให้เพิกถอนอนุญาตให้ มรภ.อุตรดิตถ์ และวิทยาลัยพยาบาลฯ สร้างอาคารใครพื้นที่สาธารณะ บึงทุ่งกะโล่ ชี้ไม่ขัดกฏหมาย ส่วนเรื่องปิดกั้นขวางทางน้ำไหลให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีใหม่

วันนี้ (27 ก.พ.) ศาลปกครอง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมพวกรวม 62 คน ซึ่งเป็นชาวบ้าน ต.ป่าเซ่า ต.คุ้งตะเภา จ.อุตรดิตถ์ ยื่นฟ้อง ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุตรดิตถ์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 7 ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้มรภ.อุตรดิตถ์ และวิทยาลัยพยาบาลฯอุตรดิตถ์ เข้าใช้ประโยชน์ก่อสร้างอาคารในพื้นที่สาธารณะประโยชน์บึงทุ่งกะโล่ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศ

ทั้งนี้ เหตุที่ศาลฯยกฟ้องระบุว่า แม้ตามหลักฐาน ที่สาธารณประโยชน์ลำรางทุ่งกะโล่ ซึ่งมีพื้นที่ 7,042 ไร่ 51 ตารางวา จะมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304(2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ต่อมาการใช้ที่ดินดังกล่าวได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
มาเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อส่วนตนเพราะมีการเข้าไปบุกรุกจับจองของราษฎร สภาพพื้นที่ น้ำในบึงแห้งลงกว่าเดิม มีการทับถมของตะกอน วัชพืช กลายเป็นทีดินผืนใหญ่ และมีราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวจำนวน 51 คน ทำหนังสือยินยอมสละการทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อให้มีการนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีเงื่อนไข

ดังนั้น เมื่อมี พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ ให้ที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเป็นที่เขตปฏิรูปที่ดิน 2526 ย่อมมีผลเป็นการถอนสภาพที่ดินดังกล่าวจากการเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยปริยาย การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ประกาศให้ขยายเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดินเข้าไปในเขตที่สาธารณประโยชน์ลำรางทุ่งกะโล่ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์การปฏิรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 นั้น ให้จัดสรรให้เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือมีเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ ซึ่งการที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้มรภ.อุตรดิตถ์ใช้ที่ดิน 2 พันไร่สร้างมหาวิทยาลัย และ ให้วิทยาลัยพยาบาลใช้ที่ดิน 250 ไร่ จัดตั้งวิทยาลัยส่วนขยาย โดยจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อเกษตรกรรม 500 ไร่ ให้กับเกษตรกร 56 ราย ซึ่งยังมีที่ดินสาธารณประโยชน์อีก 4,292 ไร่ ที่ยังไม่มีการจัดสรรหรือจะนำไปใช้ประโยชน์ จึงเห็นว่า ควรมีการทบทวนการพิจารณาอนุญาตให้หน่วยราชการเข้าใช้ประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมเป็นหลัก

ส่วนที่ชาวบ้านอ้างว่าพื้นที่พิพาทดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติ ครม. 3 พ.ย. 52 เห็นว่า แม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะชี้แจงว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าจ้างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ ทำการศึกษาและมีความเห็นในเวลาต่อมาว่าที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวเข้าตามหลักเกณฑ์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศ โดยในอนาคตกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อาจเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ ครม. พิจารณาทบทวนกำหนดให้บึงกะโล่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติต่อไป แต่เมื่อ ปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน จึงต้องถือว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่นขนาดพื้นที่ 0.16 หรือ 100 ไร่ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 43 ซึ่งก็ไมได้มีการกำหนดมาตรการในการดูแลควบคุมพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ และการที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดให้ มรภ. และวิทยาลัยเข้าให้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวก็เกิดขึ้นก่อนที่ครม.จะมีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 52 ที่มีการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 43 เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำให้ครอบคลุม จึงไม่ถือว่าการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องขัดต่อมติ ครม. 3 พ.ย. 52 สำหรับที่ชาวบ้านอ้างว่าการถมดินให้สูงทำคันดินรอบโครงการ และทำถนนปิดกั้นขวางทางการไหลของน้ำฝนและน้ำป่าที่ไหลมาตามธรรมชาติลงสู่บึงกะโล่ ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวของชาวบ้านได้รับผลกระทบเสียหาย เห็นว่าผู้ได้รับผลกระทบย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำการดังกล่าวซึ่งต้องไปว่ากันเป็นคดีใหม่ จึงพิพากษายกฟ้อง







กำลังโหลดความคิดเห็น