เผยทูต “พิศาล มาณวพัฒน์” พบ “บารัค โอบามา” แจงตามโรดแมป ระบุกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนศกนี้ และต้นปีหน้า ไทยจะจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมืองแข่งขันกัน ในช่วงนี้จึงขอให้สหรัฐฯ อดทนและให้ความเข้าใจต่อประเทศไทย พร้อมแสดงความหวังว่าจะมุ่งขยายความร่วมมือในประเด็นต่างๆ 6 ด้าน เพื่อให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
วันนี้ (27 ก.พ.) มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ประจำสหรัฐอเมริกาว่า http://www.thaiembassydc.org/ ในหัวข้อ Ambassador’s speeches ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้เข้ายื่นพระราชสาสน์ตราตั้งต่อนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ณ ทำเนียบขาว ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา
ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งประธานาธิบดีเกี่ยวกับการดำเนินการตาม roadmap สู่ประชาธิปไตยและจะมุ่งขยายความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตพิศาล มาณวพัฒน์ ได้เข้ายื่นพระราชสาสน์ตราตั้งต่อนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ได้แจ้งประธานาธิบดีเกี่ยวกับกำหนดการตามโรดแมปว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนศกนี้ และต้นปีหน้า ไทยจะจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมืองแข่งขันกัน ในช่วงนี้จึงขอให้สหรัฐฯ อดทนและให้ความเข้าใจกับประเทศไทย นอกจากนี้ ได้แสดงความหวังว่าจะมุ่งขยายความร่วมมือในประเด็นต่างๆ 6 ด้าน เพื่อให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีให้ความสำคัญเช่นกัน
สำหรับพิธีการยื่นพระราชสาสน์เป็นไปอย่างสมเกียรติ กระชับ และอบอุ่นยิ่ง โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นำรถติดธงไทยและสหรัฐฯ มารับเอกอัครราชทูตและครอบครัวที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต และเมื่อเดินทางถึงทำเนียบขาว รถที่รับเอกอัครราชทูตต่างๆ จะทยอยเข้าคราวละคัน โดยผ่านแถวทหารกองเกียรติยศ 4 เหล่า ยืนเรียงแถวสองข้างทาง ที่หน้าอาคารทำเนียบขาว เมื่อรถจอดเทียบ เอกอัครราชทูต Peter Selfridge อธิบดีกรมพิธีการทูต พร้อมด้วยนาง Suzy George, Executive Secretary of the National Security Council and Chief of Staff of the National Security Council staff ให้การต้อนรับ
จากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้เขียนข้อความและลงนามในสมุดเยี่ยมของทำเนียบขาวที่ห้อง Cabinet โดยได้รับปากกาที่ใช้เขียนเป็นของที่ระลึกจากประธานาธิบดี เมื่อได้เวลา อธิบดีกรมพิธีการทูตได้เชิญเอกอัครราชทูตและครอบครัวจากห้อง Roosevelt ไปยังห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) โดยประธานาธิบดีโอบามาได้เดินมาที่ประตูเพื่อให้การต้อนรับ และถ่ายภาพ หลังจากนั้นเอกอัครราชทูตฯ ได้ยื่นพระราชสาส์น และแลกเปลี่ยนคำกล่าวของทั้งสองฝ่าย จากนั้นประธานาธิบดีโอบามาได้พูดคุยกับเอกอัครราชทูตฯ ภรรยา และบุตรอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่เจ้าหน้าที่กรมพิธีการทูตนำเอกอัครราชทูตและครอบครัวมาส่งที่ทำเนียบ เอกอัครราชทูต
โดยรายละเอียดปรากฏในคำกล่าวของเอกอัครราชทูตฯ ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในหัวข้อ Ambassador’s speeches
http://www.thaiembassydc.org/wp-content/uploads/2015/02/TH-Translation-Amb-remarks-23-Feb-2015.pdf
ถ้อยแถลงของนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทตู ณ กรุงวอชิงตัน ในโอกาสยื่นพระราชสาสน์ตราตั้งต่อนาย Barack H. Obama ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
“ท่านประธานาธิบดี ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะยื่นพระราชสาสน์ตราตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ผมดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา สืบแทนนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี โดยผมขอนำความนับถือและความปรารถนาดีจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มายังท่านประธานาธิบดี ให้ท่านมีความสมบูรณ์ด้วยพลานามัยและให้สหรัฐอเมริกาและประชาชนชาวอเมริกันมีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป
ท่านประธานาธิบดี ความสัมพันธ์ที่ยาวนานถึง 182 ปี เป็นสิ่งยืนยันถึงความมั่นคงของมิตรภาพระหว่างประเทศของเราทั้งสอง มิตรภาพระหว่างไทยในฐานะประเทศพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย กับสหรัฐฯ ได้เจริญงอกงามและแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา จนถึงปัจจุบันที่ไทยและสหรัฐฯ มีความร่วมมือระหว่างกันในหลายสาขา ทั้งในด้านความมั่นคงและการทหาร การค้าการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
ความมุ่งมั่นในอุดมการณ์และค่านิยมที่สอดคล้องกันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เช่น ความเป็นประชาธิปไตย การเคารพหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ล้วนเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ
โดยผมขอยืนยันว่าอุดมการณ์และค่านิยมเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าไทยจะกำลังประสบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศก็ตาม ไทยรับทราบความเห็นของสหรัฐฯ ที่หวังให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนงาน (Roadmap) ที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ และเดินหน้าปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศชาติต้องกลับเข้าสู่ภาวะชะงักงันทางการเมือง มีรัฐบาลที่ล้มเหลว ประสบปัญหาคอร์รัปชัน และเพิกเฉยต่อหลักนิติธรรมดังเช่นที่ผ่านมา กระบวนการยกร่าง การรับฟังความเห็นและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ของไทยน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนในปีนี้ และคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในช่วงต้นปีหน้า
เป้าหมายสำคัญของไทย คือ การนำพาประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่มีความยั่งยืนและแข็งแกร่งยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งผมเห็นว่ามิตรประเทศของไทยโดยเฉพาะสหรัฐฯ ควรจะเข้าใจและสนับสนุนขั้นตอนและเป้าหมายเหล่านี้ เนื่องจากประเทศไทยจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งและเป็นหุ้นส่วนที่มีศักยภาพยิ่งขึ้นของสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ก็จำเป็นต้องเกิดจากการที่ไทยมีประชาธิปไตยที่ปราศจากข้อบกพร่องในอดีตเท่านั้น
ท่านประธานาธิบดี นโยบายปรับสมดุลทางยุทธศาสตร์สู่เอเชียของสหรัฐฯ ที่ดำเนินอยู่ประกอบกับการบรรลุประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในอีกไม่ถึงหนึ่งปี ข้างหน้านี้จะสร้างโอกาสอย่างมากมายให้แก่ประเทศของเราทั้งสอง รวมทั้งหุ้นส่วนในภูมิภาคและประเทศอื่นๆ โดยผมขอแจ้งสาขาความร่วมมือที่สำคัญซึ่งผมเห็นว่า หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะสามารถเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน และผลประโยชน์โดยรวมต่อภูมิภาคและประชาคมโลกได้ ดังนี้
1. ความมั่นคง คงไม่มีความมั่นคงใดที่จะสำคัญไปกว่าความมั่นคงของมนุษย์ และก็ไม่มีรัฐบาลใดที่ให้ความสำคัญและทุ่มเททรัพยากรต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ ปัญหาแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก ตลอดจนการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กมากเท่ากับรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็
รับทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในระดับที่สูงที่สุดในเรื่องนี้ โดยไทยได้แก้ไขและอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายและการเพิ่มมาตรการคุ้มครองพยานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ไทยยังดำเนินความพยายามอย่างหนักเพื่อลดความเสี่ยงของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานประมง มิให้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และการแสวงประโยชน์ อย่างไรก็ดี ไทยตระหนักดีว่ายังต้องดำเนินการให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด รวมทั้งในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภายในภูมิภาค เช่น การค้ายาเสพติด การลักลอบค้าสัตว์ป่า การฟอกเงิน และภัยคุกคามจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ก็เป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ซึ่งเป็นปัญหาสำาคัญที่ควรได้รับความสนใจ
และแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และโดยที่ตระหนักว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมต่อกับตอนใต้ของจีนและอินเดีย ไทยจะสานต่อการทำงานอย่างแข็งขันมากขึ้นร่วมกับประเทศในภูมิภาคและสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
สำหรับการต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศนั้น ไทยจะทำงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค และประชาคมโลกเพื่อส่งเสริมความอดกลั้นทางศาสนาและการหารือระหว่างความเชื่อ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยความเข้าใจ ความอดกลั้น สันติภาพ และการเคารพในความแตกต่างระหว่างความเชื่อ พร้อมทั้งจะผลักดันการแก้ไขสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เยาวชนมีแนวคิดแบบสุดโต่งผ่านโครงการเพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในประเทศไทยเองและในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนด้านข้อมูลแล้ว ไทยและสหรัฐฯ ยังสามารถขยายความร่วมมือเพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของนักรบต่างชาติและทำลายความชอบธรรมของแนวคิด
สุดโต่งหัวรุนแรงได้อีกด้วย
2. ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ไทยมีความพร้อมด้านบุคลากรและการค้นคว้าวิจัยที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขโลก ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในกรอบ Global Health Security Agenda (GHSA) โดยในกรอบความร่วมมือดังกล่าว ไทยในฐานะประเทศผู้นำด้านการพัฒนาระบบเครือข่าย
ห้องปฏิบัติการและการพัฒนาบุคลากร ภายใต้แนวทางเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบสนอง (“Prevent, Detect and Respond”) ต่อโรคระบาดข้ามพรมแดนของ GHSA จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคในหัวข้อ “Global Health Security Agenda : Strengthening Workforce Development and National Laboratory
System inthe East Asia andPacific Region” ในเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ ไทยจะมีบทบาทแข็งขันในฐานะประเทศสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยา (Antimicrobial Resistance) ในกรอบ GHSA ด้วย
ในขณะเดียวกัน หน่วยงานทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนของไทยยังมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับอีโบลาที่ต้นทางและกับโรคติดต่ออื่นๆ ที่เป็นภัยต่อมนุษย์ อาทิ เอดส์ และมาลาเรีย ซึ่งความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของไทยกับกองทัพสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้งในด้านการวิจัยด้านวัคซีน ผมหวังที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อผลักดันข้อริเริ่มต่างๆ ด้านสาธารณสุข เช่น การรับมือกับปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น
3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลปัจจุบันของไทยมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภายในประเทศโดยการพัฒนาและการใช้พลังงานสะอาดและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไทยได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 25 ของอัตราการใช้พลังงานรวมของประเทศภายในปี 2564 พร้อมทั้งลดอัตราการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายและความเข้มข้นของการใช้พลังงานลงร้อยละ 25 ภายในปี 2573
ผมประสงค์ที่จะเชื่อมโยงความพยายามดังกล่าวของไทยเข้ากับกองทุนอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำ โดยเพิ่งประกาศสนับสนุนงบประมาณให้แก่กองทุนจำนวนสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะร่วมมือกับประเทศผู้บริจาคอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่างๆ ทั่วโลก
เราควรตระหนักด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความร่วมมือด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งจะเห็นได้จากการฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปว่าไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ และมิตรประเทศในภูมิภาคในการเพิ่มศักยภาพและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ
นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญต่อเป้าหมายร่วมกับสหรัฐฯ ภายใต้กรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative - LMI) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายต่อระบบนิเวศวิทยาในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง โดยความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของข้อริเริ่มดังกล่าว
4. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกันเป็นผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองประเทศ โดยช่วยสร้างงาน และรายได้ให้แก่ประชาชน ซึ่งการเดินทางเยือนประเทศไทยของคณะผู้แทนสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council - USABC) ที่ประกอบด้วยผู้แทนของบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ กว่า 70 คนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่นักธุรกิจสหรัฐฯ มีต่อเศรษฐกิจไทย
รัฐบาลปัจจุบันมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายการค้าเสรี และดำเนินกระบวนการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปฏิรูปภาษี ระบบศุลกากร และการเพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการประกอบธุรกิจซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ โดยนโยบายดังกล่าวประกอบด้วยมาตรการปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญในลำดับต้นในแผนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย
นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประตูสู่อาเซียนซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตและแข็งแกร่งมากที่สุดของโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ มายังอาเซียนมีมูลค่าถึงเกือบหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งสร้างงานให้แก่ชาวอเมริกันกว่า 560,000 คน อาเซียนยังเป็นแหล่งลงทุนอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียด้วย
5. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯซึ่งลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ได้กำหนดแนวทางให้แก่หน่วยงานของทั้งสองประเทศเพื่อแสวงหาสาขาความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านการวิจัยร่วม พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการ การศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics - STEM Education) และการแลกเปลี่ยนในด้านอื่นๆ ซึ่งการ
เยือนประเทศไทยของ ดร. Geraldine Richmond ผู้แทนด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม 2558 ถือเป็นพัฒนาการสำคัญอีกก้าวหนึ่งของความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยมีการระบุประเด็นเพิ่มเติมที่ทั้งสองประเทศจะสามารถพัฒนาความร่วมมือต่อไปได้ อาทิ การพัฒนาบทบาทของสตรีในวงการวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าวิจัยด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมต้อนรับการเยือนของ ดร. Richmond อีกครั้งในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
6. การพัฒนาบทบาทสตรีและความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ไทยพร้อมจะขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในกรอบข้อริเริ่มต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือ Equal Futures Partnership (EFP) การจัดตั้งศูนย์ Women’s Entrepreneurial Centers of Resources,Education, Access, and Training for Economic Empowerment (WECREATE) ภายใต้กรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งโครงการYoung Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) ซึ่งสหรัฐฯ ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 โดยผมประสงค์จะผลักดันให้มีการเพิ่มโอกาสให้แก่เยาวชนมุสลิม โดยเฉพาะเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้มากขึ้นด้วย
ท่านประธานาธิบดี ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กลับมากรุงวอชิงตันอีกครั้ง และได้ปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรไทยประจำสหรัฐฯ คนที่ 44 กรุงวอชิงตันเป็นเมืองแรกของการออกประจำการในต่างประเทศของผม ในช่วงดังกล่าวผมได้รับประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งจากการทำงานในฐานะผู้ช่วยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต และของอดีตวุฒิสมาชิก Daniel Inouye จากมลรัฐฮาวายผู้ล่วงลับไปแล้ว ในช่วงการประชุมรัฐสภาสหรัฐฯ สมัยที่ 99 (ระหว่างปี 2529-2530) ซึ่งการมีโอกาสได้ทำงานในระหว่างที่วุฒิสมาชิก Inouye ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจเพื่อสอบสวนกรณีอิหร่าน-คอนทรานั้นทำให้ผมได้เข้าใจถึงค่านิยมของชาวอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญของประชาชนในฐานะพลเมืองไปจนถึงหลักความเสมอภาคของบุคคลทุกคนตามกฎหมาย
ในฐานะเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรไทย ท่านประธานาธิบดีโปรดวางใจได้ว่า ผมมีความพร้อมและความกระตือรือร้นที่จะทำงานอย่างหนักเพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมืออันใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในทุกๆ ด้านที่ผมได้กล่าวไปแล้วอย่างเต็มความสามารถตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่ง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศและประชาชน
การปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตของผมในทุกๆ วันจะยึดตามแนวคำสอนของพระราชสุเมธาจารย์ (สุเมโธภิกขุ) พระภิกษุชาวอเมริกันที่เคยเป็นอาสาสมัครหน่วยสันติภาพของสหรัฐฯ ก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งท่านเป็นที่นับถือยิ่งในหมู่พุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ โดยท่านได้เขียนไว้ว่า “อดีตเป็นเพียงความทรงจำ อนาคตไม่สามารถหยั่งรู้ได้ ปัจจุบันต่างหากที่สำคัญที่สุด” ซึ่งเป็นหนึ่งในแก่นของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
อนึ่ง ท่านประธานาธิบดีน่าจะยินดีที่ได้ทราบว่า ปัจจุบันหน่วยสันติภาพของสหรัฐฯ ยังคงทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมโยงมิตรภาพระหว่างประชาชนไทยและสหรัฐฯ โดยขณะนี้มีอาสาสมัครจากหน่วยสันติภาพของสหรัฐฯ ในประเทศไทยทั้งหมด 159 คนใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ
สุดท้ายนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผมจะได้รับไมตรีจิตและการสนับสนุนจากรัฐบาลของท่านในการปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตฯ โดยผมจะไม่ยึดติดอยู่กับอดีต หรือมีความคลางแคลงใจต่ออนาคตที่ไม่สามารถหยั่งรู้ได้ แต่ผมจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยสติและความรู้เท่าทัน และเมื่อคำว่า “ฉัน” ถูกแทนด้วยคำว่า “เรา” ผมก็เชื่อว่า
ทุกสิ่งจะสำเร็จได้หากเราร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ”