xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์ เจียมฯ” บอกรักธรรมศาสตร์ เสียดายไม่ได้อยู่จนเกษียณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ภาพจากแฟ้ม)
“สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” เพ้อรักธรรมศาสตร์ เพราะโตมากับที่นี่ แวะเวียนมาตลอดตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา เผยเคยทำงานมหาวิทยาลัยอื่นแล้วอึดอัด จนต้องกลับมา มธ.เนื่องจากเป็นอิสระ-ระเบียบกฎเกณฑ์โบราณน้อยกว่า-ห้องสมุดดี-มีอาจารย์ด้านสังคมระดับนำอยู่เยอะ บ่นเสียดายไม่ได้อยู่จนเกษียณ อดบรรยายประวัติศาสตร์ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนมากขึ้นที่พร้อมทำความเข้าใจแบบมีเหตุผล

วันนี้ (25 ก.พ.) เมื่อเวลา 06.13 น. นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Somsak Jeamteerasakul” เป็นโพสต์ที่ 3 หลังเกิดกรณีที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่ออกจากราชการ เหตุละทิ้งราชการเกิน 15 วัน เนื้อหาว่า “ผมรักธรรมศาสตร์มาก แต่ผมเป็นคนประเภทที่ ในเรื่องความรัก ไม่ว่าต่อคน หรือสถานที่ หรืออะไรตาม ผมไม่ชอบพูด ไม่ชอบป่าวประกาศฟูมฟาย

ผมรักทีนี่ ไมใช่เพราะที่นี่เป็นไปตามคำขวัญที่รู้จักกันดี (ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉัน...) แม้ว่า ถ้าพูดในแง่ส่วนตัว ผมเริ่มรู้จัก “ประชาชน” รู้จัก “ประชาธิปไตย” รู้จัก “เสรีภาพ, ความเป็นธรรม” ที่ธรรมศาสตร์จริงๆ

ผมรักที่นี่ ก่อนอื่น เพราะผมโตมากับทีนี่ ทั้งในแง่อายุ และในแง่การเมือง ตั้งแต่อายุ 15 เมื่อผมมาธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรกในชีวิต มาร่วมชุมนุมขับไล่ถนอม-ประภาส ในเหตุการณ์ “14 ตุลา” เรียกว่ามาธรรมศาสตร์ครั้งแรกก็มากินอยู่หลับนอนในมหาวิทยาลัย กลางสนามฟุตบอลติดต่อกันหลายวันหลายคืน

หลังเหตุการณ์นั้น ผมก็แวะเวียนมาธรรมศาสตร์ เรียกว่าแทบทุกสัปดาห์ เพราะตอนนั้น มีการชุมนุม มีนิทรรศการ มีการเคลื่อนไหวต่างๆ แทบทุกสัปดาห์จริงๆ จนผมรู้จักทุกซอกทุกมุมในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ผมมานอนค้างคืนในการชุมนุมต่างๆ อีกนับครั้งไม่ถ้วน ช่วงนึงแม้จะไม่มีการชุมนุม แต่พวกอันธพาลการเมืองบางครั้งก็คอยมาก่อกวน (เผาบอร์ดหน้ารั้วมหาวิทยาลัย เป็นต้น) จำได้ว่ามีอยู่ครั้งนึง พวกเรานักทำกิจกรรมรวมทั้งผม เลยจับกลุ่มนอนค้างคืนทำหน้าที่ยาม หรือการ์ด คอยเฝ้ามหาวิทยาลัยด้วย

ในปี 18 ตอนที่กระทิงแดงนำนักเรียนอาชีวะมาบุกเผาทำลายมหาวิทยาลัย ผมยืนดูอยู่ที่สนามหลวง ร้องไห้เงียบๆ ไปด้วย แม้ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ (ภาพประกอบกระทู้มาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น)

หลังผมจบปริญญาเอก ตอนแรกผมจงใจเลือกที่จะไปเป็นอาจารย์ที่อื่น เพราะเมมโมรี หรือความทรงจำที่ธรรมศาสตร์มันมากเกินไป ขณะที่สภาพสังคมโดยรวมและในธรรมศาสตร์เองมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ความรู้สึกขัดกันระหว่างเมมโมรีของอดีต กับความจริงในปัจจุบัน มันรู้สึกมากเกินไป...

แต่ในที่สุด ผมก็กลับมาที่ธรรมศาสตร์จนได้ บอกตรงๆ ว่าเพราะรู้สึกอึดอัดกับที่อื่น
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความจริงที่ต้องยอมรับคือ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตแบบปัญญาชน ไม่ว่าจะสำหรับอาจารย์หรือนักศึกษา มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นี่ มี “ประเพณี” หรือระเบียบกฎเกณฑ์โบราณๆ อะไรน้อยกว่าที่อื่นๆ ไม่มีตราพระก้งกระเกี้ยว พระพิรุณ พระพิฆเณศ หรือพระอะไรก็แล้วแต่ ให้ต้องคอยพูดถึงด้วยความเคารพนบนอบ (ธรรมจักร ของ มธ.นี่ ไม่ค่อยมีใคร “อิน” แบบนั้น “ยอดโดม” คนก็ไม่ได้รู้สึกในทางสิ่งเคารพศักดิ์สิทธิ์อะไร)

และสำหรับอาจารย์หรือนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์แล้ว ที่นี่ยังได้เปรียบกว่าที่อื่น ในแง่ห้องสมุด (จุฬาที่รวยกว่าเยอะ ห้องสมุดทางสังคมศาสตร์ ยังด้อยกว่ามาก) และที่สำคัญอีกอย่างคือ ธรรมศาสตร์เป็นที่รวมของบรรดาอาจารย์สายนี้ระดับนำๆ อยู่เยอะ ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่มาอยู่ ผมเคยบอกนักศึกษาที่สนใจจะเป็นอาจารย์ว่า ถ้าคิดจะเป็นอาจารย์สายสังคมศาสตร์ อยู่ธรรมศาสตร์น่าจะดีทีสุด อย่างหนึ่งคือที่นี่มีคนอย่าง ชาญวิทย์ รังสรรค์ ชัยวัฒน์ เกษียร อเนก ธเนศ นครินทร์ ปริตตา สมบัติ ชูศักดิ์ ธเนศ วงศ์ ฯลฯ คืออาจารย์เหล่านี้ไม่ว่าผมจะไม่เห็นด้วยทั้งในแง่วิชาการหรือการเมืองอย่างไร แต่ผมชอบที่จะอยู่ในชุมชนมหาวิทยาลัยที่มีคนเหล่านี้ มันมีบรรยากาศที่คอย “กระตุ้นสมอง” ทำให้คุณต้องคอยพัฒนาความคิดตัวเองตลอดเวลา

...นี่คือหลายปีก่อนการปรากฏตัวของ วรเจตน์ ปิยบุตร และคณะนิติราษฎร์ หลังการปรากฏตัวของกลุ่มนี้ ซึ่งได้เปลี่ยน “แลนด์ซะเคป” หรือ “ภูมิทัศน์” ของนิติศาสตร์ไปอย่างมหาศาล (จนทุกวันนี้ยากจะจินตนาการว่า ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ นิติศาสตร์จะเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ แบบนี้ได้) ก็ยิ่งทำให้มีบรรยากาศที่น่าทำงานเป็นอาจารย์มาก

ผมคิดว่าปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ (การมีประเพณีโบราณๆ น้อย, มีห้องสมุดดี มีอาจารย์นักวิชาการที่เสนออะไรใหม่ๆ น่าสนใจเยอะ ฯลฯ) มีส่วนทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ในสายที่เรียนสังคมศาสตร์ มีโอกาสเป็นอิสระทางความคิดจากกรอบคิดประเพณีโบราณๆ ได้ง่ายกว่า มีโอกาสกล้าแสดงออกได้มากกว่า (แน่นอน โอกาสหรือความเป็นไปได้นี้จะแปลเป็นการตื่นตัวจริงๆ หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับสภาพการณ์อีกหลายอย่าง)

สรุปแล้ว ผมจึงชอบทีนี่ รักที่นี่ และเสียดายที่ไม่ได้อยู่จนครบเกษียณอายุ เสียดายที่ไม่ได้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ให้นักศึกษาอีกสัก 2-3 รุ่น ในช่วงวิกฤตการเมืองเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ามีนักศึกษามากขึ้นๆ หันมาสนใจที่จะศึกษาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างมีเหตุมีผล เปิดใจกว้างมากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น