xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แนะประชาชนจับตาน้ำยา “ครม.ประยุทธ์” รายคน หากออกสัมปทานรอบ 21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เฟซบุ๊ค “Thirachai Phuvanatnaranubala”แสดงความเห็นต่อกรณีนายกรัฐมนตรีจะนำเรื่องสัมปทานรอบ 21 หารือคณะรัฐมนตรี
“ธีระชัย” แนะประชาชนจับตาหลักคิด - การมองประโยชน์สำหรับประเทศชาติของ “ครม. ประยุทธ์” รายบุคคล หากออกสัมปทานรอบ 21 แฉ! เอกสาร ปตท.สผ. หากเป็นจริง! ควรรีบร้อนวางแผนหาแหล่งนำเข้าที่มั่นคงได้แล้ว

วันนี้ (23 ก.พ.) มีรายงานว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala” แสดงความเห็นต่อกรณีนายกรัฐมนตรีจะนำเรื่องสัมปทานรอบ 21 หารือคณะรัฐมนตรี มีใจความว่า

“มีข่าว ม.ร.ว.ปรีดียาธร เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะนำเรื่องสัมปทานรอบ 21 หารือคณะรัฐมนตรี
ผมถือว่าเป็นข่าวดีครับ จากนี้ไป ประชาชนจะเห็นหลักคิดและการมองประโยชน์สำหรับประเทศชาติและประชาชนจากรัฐมนตรีแต่ละคนได้แล้ว”

ก่อนหน้านั้น นายธีระชัย นำรูปถ่ายจากเอกสารของกลุ่ม ปตท. มาเผยแพร่ โดยระบุว่า “สองรูปนี้ผมถ่ายมาจากเอกสารของกลุ่ม ปตท.”

รูปแรก เน้นว่าแหล่งปิโตรเลียมส่วนใหญ่ของไทยถูกค้นพบไปแล้วตั้งแต่สัมปทานรอบที่ 1 และแหล่งปิโตรเลียมที่ค้นพบในรอบต่อๆ มามีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ 3 รอบสุดท้าย คือรอบ 18 19 และ 20

รูปที่สอง เน้นว่าสัมปทานรอบ 21 ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เคยเปิดมาแล้วในอดีต

ทั้งสองรูปพยายามสื่อว่าการสำรวจรอบ 21 จะมีโอกาสสำเร็จน้อย จึงเป็นข้ออ้างว่าจำเป็นต้องให้เอกชนในรูปสัมปทาน มิฉะนั้น เขาจะไม่คุ้ม แต่ในมุมกลับ ในเมื่อโอกาสสำเร็จมีน้อย และถ้าเจอปิโตรเลียมก็จะเป็นแหล่งเล็กๆ

ก็ย่อมแสดงว่า รอบ 21 จะไม่ช่วยแก้ปัญหาที่อ้างว่าก๊าซจะหมด ได้มากนัก วิธีแก้ปัญหา ก็จะต้องอาศัยการนำเข้าอยู่ดี ใช่ไหมครับ????

สรุปแล้ว ถ้าขัอมูลนี้ถูกตัอง ไทยไม่ต้องรีบร้อนเรื่องการสำรวจ แต่ควรจะรีบร้อนวางแผนหาแหล่งนำเข้าที่มั่นคงได้แล้ว

กระทรวงฯควรจะเสนอให้ใช้งบประมาณ สำรวจเบื้องต้น 3 แปลง ที่กระทรวงเสนอจะเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตส่วนแปลงที่เหลือ รอไว้หลังแก้ไขกฎหมายได้

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านั้น นายธีระชัย ระบุว่า มีคนอ้างว่าในเวทีปิโตรเลียม นายคุรุจิตพูดว่า “คุณธีระชัย การยื่นคำขอตามระบบ psc (แบ่งปันผลผลิต) มีธรรมาภิบาลเพราะใช้การประมูลแข่งขัน เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ผมไปอยู่ที่มาเลเซียทำงานกับระบบ psc มา 8 ปี ผมรู้ดีว่าใช้ระบบเจรจาครับ”

ขอเรียนท่านผู้อ่านว่าระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น แต่ละประเทศสามารถดัดแปลงให้เหมาะสมกับตัวเอง กรณีไทย เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาหลักที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นธรรมาภิบาล จึงควรออกแบบระบบแบ่งปันผลผลิต เน้นที่ความโปร่งใสมากกว่าจุดอื่น

ในเวที อาจารย์ นพ สัตยาศัย ได้พูดแล้วว่า กรณีไทยถ้าใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ขอให้กำหนดสิ่งเรียกว่า Bangkok model ในโมเดลนี้ ไม่เอาขั้นตอนการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ให้เลือกผู้ชนะด้วยวิธีประมูลโปร่งใสเท่านั้นครับ

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง เราจะเอา แบงกอกโมเดล ไม่เอา มาเลเซียโมเดล ที่นายคุรุจิตอ้างว่าใช้ระบบเจรจา

เราต้องการเน้น ไม่ให้ข้าราชการและรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจส่วนตัว ที่จะให้คะแนนผู้ที่ยื่นสนใจแต่ละราย
เราไม่ต้องการเน้น ที่ความสามารถของข้าราชการ ที่อ้างว่าจะสามารถเจรจา บีบภาคเอกชน จนกระทั่งประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

“เราไม่เชื่อ ว่าเขาจะทำได้ดี เราเชื่อมั่นในระบบประมูลแข่งขันแบบเปิดเผยมากกว่าครับ”


รูปถ่ายจากเอกสารของกลุ่ม ปตท.

กำลังโหลดความคิดเห็น