xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติชี้ถนนไทย “Bad Trip”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ยกคำเตือน ตปท.ชี้ถนนไทย “Bad Trip” วอนรัฐเร่งจัดการความปลอดภัย หลัง “นักปั่นชิลี” เกิดเหตุซ้ำรอย “นักปั่นอังกฤษ” บนถนนในประเทศไทย ชี้ละเลยเกิดขึ้นอีกแน่

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย เปิดเผยว่า ถนนเมืองไทยยังไม่เอื้อให้คนใช้ถนนร่วมกันได้อย่างปลอดภัยหลังเกิดเหตุนักปั่นชาวชิลีถูกรถกระบะชนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เกรงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศหากรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่เร่งจัดการเชิงนโยบายและภาคบังคับให้ชัดเจน ส่วนกรมการขนส่งทางบกควรบรรจุเรื่องที่คนขับรถยนต์ต้องระวังเพิ่มในการสอบใบขับขี่

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่มาตรการแนวทางการท่องเที่ยวประเทศไทยต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาใช้ถนนเมืองไทยหลังเกิดเหตุสลดอีกครั้งกับนักปั่นจักรยานชาวชิลีที่ตั้งใจทำสถิติบันทึกสถิติปั่นจักรยานรอบโลกซึ่งเดินทาง 5 ทวีประยะทางกว่า 250,000 กม. ตั้งแต่ปี 2010 และจะเสร็จสิ้นการเดินทางในเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่จะถึงนี้ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่นายฮวน ฟรานซิสโก กิลเลอร์โม (Juan Francisco Guillermo) หัวหน้าครอบครัวต้องมาจบชีวิตลง เมื่อถูกรถกระบะชนบนไหล่ทาง ขณะขับในเวลาบ่ายของวันที่ 21 ก.พ. 58 ที่ผ่านมา

ประเทศเรากำลังทำสถิติโลกด้านถนนที่ไม่ปลอดภัยเขย่าการท่องเที่ยวหนักกว่าการก่อการร้ายขนาดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยเตือนนักท่องเที่ยวอเมริกันที่จะเดินทางมาประเทศไทยบนหน้าเว็บไซต์กระทั่งองค์การด้านความปลอดภัย (MakeRoad Safe & FIA Foundation) ถึงกับระบุชัดว่าการเดินทางบนถนนของประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Bad Trip : International tourism and road death in developing world ซึ่งข่าวที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องตอกย้ำในทันทีหลังจากเมื่อ 13 ก.พ. 56 นักปั่นจักรยานสามีภรรยาชาวอังกฤษมาเสียชีวิตในประเทศไทยเช่นกันหลังปั่นจักรยานท่องเที่ยวมาแล้วทั่วโลก

ทั้งนี้ ถนนและพฤติกรรมของคนขับรถในเมืองไทยยังขาดความปลอดภัย ขาดความคำนึงถึงผู้ใช้ทางร่วมอย่างจักรยานรถยนต์มักใช้ไหล่ทาง หรือช่องทางจักรยาน เปิดเลนขับแซงขึ้นมาในยามรถติดหรือแซงรถที่นำหน้าตนแต่ขับช้าหรือแม้จะมีกำหนดเส้นทางจักรยานแต่รถยนต์ส่วนใหญ่ในเขตเมืองหรือนอกเขตเมืองต่างขับเร็วสำหรับนักปั่นจักรยานแล้ว ความเร็วของรถยนต์ที่เข้าชนเพียง 60 กม.ต่อชั่วโมง จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 85% ทั้งนี้ยังไม่นับการขับขี่ย้อนศรมาบนไหล่ทางพบกับรถจอด ร้านค้าริมทางเดิน หรือเส้นทางชำรุด

อย่างไรก็ตาม นักปั่นจักรยานแบบทัวร์ริ่ง (touring) จะระมัดระวังตัวเองเป็นอย่างดี เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างไฟสัญญาณ สวมหมวกนิรภัย เน้นเดินทางช่วงกลางวัน และขับขี่บนไหล่ทาง แต่ก็มาจบชีวิตที่เมืองไทย ทำให้ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนของไทยสวนทางกับรัฐบาลและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่ทั้งสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้จักรยานกับการตลาดท่องเที่ยววิถีไทย

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐต้องการสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้รถจักรยานในการสัญจรมากขึ้น ควรกำหนดแผนหรือนโยบายทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว เช่น ในระยะสั้น การทำเส้นทางจักรยาน หรือเลนจักรยาน กระทรวงคมนาคม และท้องถิ่นที่ดูแลถนนควรมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัย (Road Safety Audit) โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งถนนนอกเมืองและในเมือง ทำประชาพิจารณ์ในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านค้าริมถนน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำเลนจักรยาน

ขณะที่กรมการขนส่งทางบกต้องบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการระมัดระวังและคำนึงความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานลงไปเรียนรู้และข้อสอบใบขับขี่ เช่น การเว้น ให้ระยะห่างที่ปลอดภัย ถนนในเขตเมืองหากไม่มีเลนจักรยานต้องมีการติดตั้งป้ายจำกัดความเร็ว และมีการบังคับใช้เรื่องความเร็วให้ขับช้าลง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถมีทัศนคติต่อผู้ใช้จักรยาน เว้นช่องว่างให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับจักรยานประมาณ 1-1.5 เมตร

“ที่สำคัญกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ควรเร่งประชาสัมพันธ์และหามาตรการเตือนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาใช้ถนนเมืองไทยเพื่อขับขี่ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ และจักรยาน ว่าควรระมัดระวังเรื่องใดบ้าง” นพ.ธนะพงศ์กล่าว

ส่วนในระยะยาว สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรแก้ไขกฎกระทรวง (พ.ร.บ.จราจรทางบก) เพื่อลดความเร็วเขตเมือง 50 กม.ต่อชั่วโมง ตามแนวทางสากล กระทรวงคมนาคมควรเป็นแกนหลักในการศึกษาแนวทางความปลอดภัยทั้งด้านพฤตกรรมการขับขี่ทั้งผู้ขี่จักรยานและผู้ใช้รถยนต์จัดลำดับชั้นถนนให้เป็นจริง ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้การขี่จักรยานที่ปลอดภัยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการนำมาประกอบในการเรียนการสอนหรือในกิจกรรมเสริม ท้ายที่สุดคือ ส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบ มีการติดตาม ประเมินผล เพื่อใช้เป็นแนวทางขยายผลต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น