โพล ม.กรุงเทพ สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อผลงานเศรษฐกิจ “รบ.ประยุทธ์” ให้คะแนนภาพรวมเศรษฐกิจ-นายกฯ สูงกว่า รบ. “ปู-มาร์ค” การบริหารค่าเงินเด่นสุด แต่การเติบโตเศรษฐกิจน้อยสุด ด้าน รมต.เศรษฐกิจคะแนน รมว.พณ.ได้น้อยสุด ในบรรดาผู้บริหารเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่ตอบปรับ ครม.หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ที่ตอบแนะปรับควรให้มืออาชีพช่วย
วันนี้ (22 ก.พ.) กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จึงได้ดำเนินการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 66 คน เรื่อง “ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ (ครบ 6 เดือน)” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลงานการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้คะแนน 5.62 คะแนน (จากเต็ม 10) เป็นคะแนนที่สูงกว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ (ได้ 4.08 คะแนน) และสูงกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ (ได้ 5.12 คะแนน) โดยการประเมินครั้งนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนมากที่สุดในด้านการบริหารจัดการค่าเงินบาท/เสถียรภาพค่าเงินบาท (6.51 คะแนน) และได้คะแนนน้อยที่สุดในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม (GDP) (5.19 คะแนน)
สำหรับการประเมินผลงานตัวนายกรัฐมนตรีโดยภาพรวม พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนน 6.62 คะแนน (จากเต็ม 10) สูงกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้ 3.66 คะแนน ในส่วนของผลงานรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ พบว่า นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานได้คะแนนสูงสุดเท่ากับ 6.15 คะแนน รองลงมาเป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจได้ 6.07 คะแนน ส่วนผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.พาณิชย์ ได้ 5.20 คะแนน ทำให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.69 คะแนน ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คะแนนเท่ากับ 7.54 คะแนน เป็นระดับคะแนนสูงสุด และเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2556 ที่ได้ 7.11 คะแนน
สุดท้ายเมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรมีการปรับ ครม. หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 34.8 เห็นว่าควรปรับ เพราะ (1) รัฐมนตรีไม่มีความเชี่ยวชาญจริง กรอบการทำงานแคบ ทำงานแบบราชการ ขาดแนวคิดใหม่ๆ ดังนั้น ควรให้มืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำหน้าที่แทน (2) การปฏิบัติงานล่าช้า งานไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ทำงานเชิงรับ และทำงานไม่สอดประสานกัน ขณะที่ร้อยละ 21.2 เห็นว่าไม่ควรปรับ โดยให้เหตุผลว่า (1) เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย/โครงการต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลา (2) รัฐบาลชุดนี้มีเวลาทำงานที่น้อยตาม roadmap ที่ได้ประกาศจึงไม่ควรมีการปรับเปลี่ยน ครม. อย่างไรก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 44.0 ที่ไม่ตอบคำถามข้อนี้