xs
xsm
sm
md
lg

กสม.หนุนแก้กฎหมายกำหนดโทษอาญาผู้ครอบครองสื่อลามกเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิสา เบ็ญจะมโน (แฟ้มภาพ)
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนุนการแก้ไข พ.ร.บ.กำหนดโทษทางอาญาผู้ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก

นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวว่า กรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยเรื่องสื่อลามกอนาจารในเด็กและคุ้มครองเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้เพิ่มนิยามสื่อลามกอนาจารเด็ก และการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิดทางกฎหมาย มีบทลงโทษ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสื่อลามกอนาจารเด็กในระดับโลกให้เป็นวาระการพิจารณาด่วนในการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 นั้น การพิจารณาของ สนช.ในประเด็นทั้งสองประการนี้ สอดคล้องกับข้อกำหนดของพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก (Optional Protocol to the Convention on the Right of the Child on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography) ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำรับรองผูกพันว่าจะดำเนินการ โดยในพิธีสารเลือกรับดังกล่าวได้ระบุข้อห่วงกังวลในเรื่องการมีสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็กเพิ่มมากขึ้นในอินเทอร์เน็ต และวิทยาการที่พัฒนาเกิดขึ้นใหม่อื่นๆ ซึ่งข้อสรุปของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็กในอินเทอร์เน็ตซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา เมื่อปี 1999 ที่ให้ถือว่า การผลิต การแจกจ่าย การส่งออก การส่งต่อ การนำเข้า การมีไว้ในครอบครองโดยเจตนาและการโฆษณาสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็กเป็นความผิดทางอาญา

นอกจากนี้ พิธีสารเลือกรับยังระบุว่า รัฐภาคีควรพิจารณาถึงพฤติกรรมทางเพศที่ขาดความรับผิดชอบทางเพศของผู้ใหญ่ที่เป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก ตลอดจนต้องยกระดับความตระหนักของสาธารณชนว่าควรต้องลดอุปสงค์ของผู้บริโภคในสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก และต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายภายในของแต่ละประเทศให้ดีขึ้นรวมทั้งยังกำหนดให้รัฐภาคีแต่ละรัฐจะต้องประกันว่า อย่างน้อยการกระทำและกิจกรรม การผลิต การแจกจ่าย การเผยแพร่ การนำเข้า การส่งออก การขาย หรือการครอบครองเพื่อความมุ่งประสงค์ดังกล่าว ซึ่งสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก อยู่ภายใต้กฎหมายอาญาหรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าความผิดทั้งหลายเช่นว่านั้นจะกระทำภายในประเทศหรือข้ามชาติ หรือกระทำในลักษณะส่วนบุคคลหรือในลักษณะจัดตั้งเป็นองค์กร ซึ่งผลของการออกกฎหมายดังกล่าวจะกำจัดสื่อลามกอนาจารเด็กและลงโทษผู้ละเมิด จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว และขอชื่นชม สนช.ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งต้องการการปกป้องคุ้มครองมากกว่าคนทั่วไปรวมถึงต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ และต้องยึดหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น