กสม.สอบข้อร้องเรียนทหารคุมตัว ห่วงกระทบสิทธิ และแก้ พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร หวั่นเพิ่มอำนาจคุมตัว ผู้แทนพระธรรมนูญแจงแก้ พ.ร.บ.ตามคำขอผู้บังคับบัญชา ให้มีอำนาจสั่งคุมตัวเฉพาะทหารเท่านั้น ส่วนนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นไปตามประกาศ คสช. ในคดีสถาบัน-ความมั่นคง ยันคุมตัวเรือนจำปกติ “หมอนิรันดร์” จ่อบี้เขียน ม.46 ให้ชัด กันพวกศรีธนญชัย
วันนี้ (19 ก.พ.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน ได้จัดประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียนที่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลไว้ 7 วัน โดยไม่แจ้งข้อหาและสถานที่ควบคุมตัว รวมทั้งกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 โดยมี พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ รองผู้อำนวยการกองกฤษฎีกาทหารและการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนเจ้ากรมพระธรรมนูญ มาร่วมประชุมชี้แจง ทั้งนี้ ในการประชุมอนุกรรมการได้แสดงความกังวลว่า ห่วงเรื่องการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหารในช่วงนี้ เพราะมีศาลเดียว ซึ่งจะกระทบกับสิทธิมนุษยชน และกังวลว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารจะเป็นการเพิ่มอำอาจให้ทหารในการควบคุมตัวพลเรือน
โดย พ.อ.ศุภชัยกล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารในครั้งนี้ โดยเฉพาะในมาตรา 46 ที่ระบุว่า ในสภาพที่เกิดเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นๆ ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด ณ ที่นั้น อาจสั่งให้ควบคุมผู้ต้องหารวมทั้งพลเรือนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้นานถึง 84 วันนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารเคยให้อำนาจผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งควบคุมตัวทหารได้ 90 วัน แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยมีการตัดอำนาจในการสั่งควบคุมตัวจากผู้บังคับบัญชา และให้อำนาจดังกล่าวเป็นแค่อำนาจของศาลทหาร แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาจึงมีการขอให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้มีอำนาจดังกล่าว จึงนำมาสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารในครั้งนี้ ซึ่งยืนยันว่าอำนาจดังกล่าวของผู้บังคับบัญชาใช้กับทหารเท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งควบคุมตัวพลเรือนแต่อย่างไร
ส่วนกรณีที่มีการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น เป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ที่มีการกำหนดให้คดีที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และคดีความมั่นคงให้ดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งก็เป็นบางคดีเท่านั้นที่จะมีการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่การที่จะให้ทางพลเรือนไปขึ้นศาลธรรมดาขณะนี้คงทำไม่ได้ เพราะเราต้องทำตามประกาศฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารแต่ก็ไม่ได้ควบคุมตัวที่เรือนจำทหาร เป็นการควบคุมตัวที่เรือนจำพลเรือนแต่ตราบใดที่มีประกาศของ คสช.อยู่ และมีการกระทำความผิดคดีตามประกาศก็ต้องมาสู่ศาลทหาร ส่วนการอธิบายกับต่างประเทศนั้น เราก็ชี้แจงตามหลายๆสื่อ และวันที่ 20 ก.พ.นี้ ก็จะมีการชี้แจงกรณีดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวด้วย
ด้าน นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ขอแนะนำให้กรมพระธรรมนูญทำหนังสือไปแจ้งต่อ สนช. เพื่อให้เขียนมาตรา 46 ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการตีความเกิดขึ้น เพราะการตีความข้อกฎหมายของไทยเป็นแบบศรีธนญชัย ทั้งนี้ กสม.เองก็จะเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้เขียนกฎหมายให้ชัดเจน โดยให้ระบุเลยว่าอำนาจในมาตรา 46 ของกฎหมายดังกล่าวนั้นใช้แค่กับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งก็คือทหารเท่านั้น ไม่รวมถึงพลเรือน โดยจะทำหนังสือภายในวันที่ 20 ก.พ. นี้ เพื่อให้มีการปรับแก้ต่อไป