ดุสิตโพลสำรวจความเห็น ปชช. ส่วนใหญ่ห่วงการเมืองเรื่องการบริหารประเทศรัฐ เหตุมีเรื่องต้องเร่งแก้ ด้าน ศก.ห่วงเรื่องของแพง ต้องแบกภาระหนักขึ้น ด้านสังคมกังวล เรื่องอาชญากรรม ชี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น มอง “นายกฯ-คสช.” มาแก้ปัญหา เผยทำใจ แก้ปัญหาความวิตก - นิด้าโพลเผยส่วนใหญ่ให้ศาลเป็นผู้พิจารณา “ยิ่งลักษณ์” ขอไปนอก เสียงสูสีทั้งไปแล้วกลับ-ไปแล้วไปลับ
วันนี้ (15 ก.พ.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ในข้อหัว “ความเป็นห่วง วิตกกังวล” ของคนไทย ณ วันนี้ “กับสถานการณ์บ้านเมืองที่ทำให้คนไทยมีความเป็นห่วงและวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นภาวะทางการเมือง สภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่ทุกคนจะต้องเผชิญและผ่านไปให้ได้ จำนวน 1,254 คน ระหว่างวันที่ 9-14 ก.พ. 58 สรุปผลได้ดังนี้
เมื่อถามว่าวันนี้ประชาชน ห่วง วิตกกังวลด้านการเมืองเรื่องอะไรบ้าง อันดับ 1 การบริหารประเทศของรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมือง เพราะมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น เหตุระเบิดที่พารากอน ฯลฯ ร้อยละ 85.57 อันดับ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล เพราะหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะต้องเกิดความวุ่นวายอีกครั้ง การไม่ยอมรับ รธน. ของคนบางกลุ่ม ฯลฯ ร้อยละ 78.55 อันดับ 3 การทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้ง แตกแยกของนักการเมือง เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ได้ นักการเมืองไทยยังมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกอย่างชัดเจน ฯลฯ ร้อยละ 73.05 อันดับ 4 การทุจริต คอร์รัปชัน แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพราะที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีผลต่อการพัฒนาประเทศ มีอยู่ทุกแวดวง ฯลฯ ร้อยละ 66.67 และอันดับ 5 กฎอัยการศึก จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะทำให้ต่างชาติไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน ฯลฯ ร้อยละ 64.83
ส่วนคำถามว่าวันนี้ประชาชนห่วง วิตกกังวลด้านเศรษฐกิจ เรื่องอะไรบ้าง อันดับ 1 ของแพง สินค้า และบริการต่างๆ ขึ้นราคา เพราะประชาชนต้องแบกรับภาระหนักขึ้น ส่งผลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ ร้อยละ 88.92 อันดับ 2 การจ้างงาน เงินเดือน สวัสดิการ ว่างงาน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวกับความอยู่รอด ปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว ฯลฯ ร้อยละ 80.54 อันดับ 3 ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ราคาน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม เพราะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นรายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฯลฯ ร้อยละ 79.51 อันดับ 4 สถานะทางการเงินของประเทศ ค่าเงินบาท เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น ส่งผลต่อการค้า การลงทุนและสภาพคล่องทางการเงินของประเทศ ฯลฯ ร้อยละ 70.49 และอันดับ 5 การส่งออก /ราคาพืชผลทางการเกษตร ข้าว ยางพารา เพราะเป็นรายได้หลักของประเทศ เกษตรกรยังคงได้รับความเดือดร้อนและมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ฯลฯ ร้อยละ 69.46
ด้านคำถามว่าวันนี้ประชาชนห่วง วิตกกังวลด้านสังคม เรื่องอะไรบ้าง อันดับ 1 ภัยสังคมต่างๆ อาชญากรรม ปล้น ฆ่า ข่มขืน เพราะมีข่าวให้เห็นทุกวันและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น สังคมไทยยังคงเสื่อมโทรม น่าเป็นห่วง ฯลฯ ร้อยละ 83.25 อันดับ 2 พฤติกรรมของวัยรุ่นและเยาวชน เพราะ เป็นวัยที่ติดเพื่อน ไม่สนใจการเรียน ชอบมั่วสุม เที่ยวเตร่ ติดยาเสพติด พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล ฯลฯ ร้อยละ 76.32 อันดับ 3 การฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ยึดติดวัตถุนิยม ติดเทคโนโลยี เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างให้ความสำคัญและยึดติดเทคโนโลยี รับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามาก ฯลฯ ร้อยละ 72.01 อันดับ 4 ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีไทย เพราะปัจจุบันคนไม่ค่อยให้ความสำคัญโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระสงฆ์ลดลง ฯลฯ ร้อยละ 58.61 และอันดับ 5 ความสามัคคี ความมีระเบียบวินัยของคนในชาติ เพราะ คนไม่เคารพกฎหมาย ชอบฝ่าฝืน สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ฯลฯ ร้อยละ 57.74
ขณะที่คำถามว่า ใคร หรือหน่วยงานใด ที่ประชาชนคิดว่าจะมาแก้ปัญหาความวิตกกังวลได้ อันดับ 1 นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 87.00 อันดับ 2 คสช./ทหาร ร้อยละ 81.10 อันดับ 3 ทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ร้อยละ 79.11 อันดับ 4 หน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 74.72 และอันดับ 5 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 62.52
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าวันนี้ ประชาชนได้แก้ปัญหาความวิตกกังวลในภาพรวมอย่างไรบ้าง อันดับ 1 ทำใจ ปลง มีสติ ไม่คิดมาก ร้อยละ 86.04 อันดับ 2 ประหยัด อดออม ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ร้อยละ 84.77 อันดับ 3 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตทั้งนอกบ้านและในบ้าน ร้อยละ 82.22 อันดับ 4 ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือสังคมเท่าที่จะทำได้ ร้อยละ 75.60 และอันดับ 5 มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง ร้อยละ 65.15
ด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.68 ระบุว่า ควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณา รองลงมา ร้อยละ 25.33 ระบุว่า คสช. ไม่ควรอนุญาต เพราะอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินคดี ควรรอให้ศาลพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นก่อน และเกรงว่าจะเป็นการลี้ภัยทางการเมือง ไปแล้วไม่กลับมาเลย ร้อยละ 23.16 ระบุว่า คสช. ควรอนุญาต เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถจะกระทำได้ และถือว่าไม่ได้กระทำความผิดอะไรร้ายแรง และร้อยละ 3.83 ไม่แน่ใจ ไม่ระบุ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรณี หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับอนุญาตจาก คสช. ศาล ให้เดินทางไปต่างประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.22 ระบุว่า เชื่อว่าไปและจะกลับมาตามกำหนด รองลงมา ร้อยละ 32.75 ระบุว่า เชื่อว่าไปแล้วจะไม่กลับมาเลย ร้อยละ 14.46 ระบุว่า เชื่อว่าไปและกลับ แต่จะไม่กลับมาตามกำหนด ร้อยละ 2.64 ระบุว่า เชื่อว่าจะไม่เดินทางไปต่างประเทศเลย ร้อยละ 14.94 ไม่แน่ใจ ไม่ระบุ