โฆษกกองทัพบกเผยการแก้ไข ม.46 พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ไม่เกี่ยวกับผู้กระทำผิดพลเรือน องค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าใจคลาดเคลื่อน
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนแถลงคัดค้านการแก้ไขมาตรา 46 พระราชบัญญัติ ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ที่ ครม.ได้เสนอต่อ สนช. โดยให้อำนาจทหารมีอำนาจสั่งขังพลเรือนโดยไม่มีองค์ตุลาการในการตรวจสอบว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับกับเฉพาะทหาร หรือบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเท่านั้น อีกทั้งเป็นการให้อำนาจกับผู้บังคับบัญชาทหารก็แต่เฉพาะเหตุจำเป็นหรือมีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น เช่น กรณีเรือรบไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศ หรือเหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณชายแดนที่หน่วยทหารยังติดพันการรบ ซึ่งการที่ผู้บังคับหน่วยทหารจะไปร้องขอให้ศาลสั่งขังยังไม่สามารถทำได้ หากไม่ดำเนินการใดจะเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมในองค์กรทหาร
สำหรับคดีตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งก็คือตำรวจจะเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนผู้ต้องหาพลเรือน กรณีถ้ามีเหตุสุดวิสัยจำเป็นไม่สามารถนำผู้ต้องหาไปศาลทหารได้ภายในเวลา 48 ชม.ก็เป็นเรื่องของทางตำรวจที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาเอง และเมื่อเหตุจำเป็นสุดวิสัยสิ้นสุดลง ทางตำรวจก็ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลทหารในการสั่งขังต่อไป กรณีนี้จะไม่เกี่ยวหรือเชื่อมโยงกับอำนาจการควบคุมของผู้บังคับบัญชาทหารแต่อย่างใด
พ.อ.วินธัยกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังขอแก้ไขอยู่ใน สนช.นั้น ได้วางหลักการอย่างชัดเจนไว้ในมาตรา 46 ว่า ในการขังผู้ต้องหายังคงให้เป็นอำนาจของศาลทหารเท่านั้น ส่วนการให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารจะสั่งขังได้ ก็แต่เฉพาะที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นจริงๆ และหากพิจารณาเนื้อหาสาระในภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ที่กำลังเสนอขอแก้บางมาตราในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีของศาลทหารมีความทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ที่สำคัญประเทศไทยเป็นประเทศที่ปฏิบัติตามหลักสากลด้านกฎหมายมาโดยตลอดอยู่แล้ว จึงขอให้มั่นใจในดุลยพินิจของผู้มีส่วนในการพิจารณากลั่นกรอง ที่ทุกท่านตระหนักและมีความเข้าใจดีในเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่จะกลั่นกรองกฎหมายในเรื่องนี้ให้เป็นไปตามหลักการ สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และเพื่อประโยชน์ของทุกคน