xs
xsm
sm
md
lg

บารมี “พระสุเทพ” เห็นผล! “สานแสงทอง” ชนะเลือกตั้งองค์การนักศึกษารามคำแหง 3 สมัยรวด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ขณะบิณฑบาตที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ผลการเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง ปี 2558 “พรรคสานแสงทอง” ชนะเลือกตั้งเป็นนายก อ.ศ.ม.ร. 3 สมัยซ้อน พบหาเสียงทุ่มสุดตัว “งบรับน้องหนึ่งหมื่น - จิตอาสาหมื่นห้า” เจาะกลุ่มชมรม - ซุ้มนักศึกษา จัดเวทีคอนเสิร์ตดึงนักร้องดังวันแถลงนโยบาย ก่อนโค้งสุดท้าย “พระสุเทพ” บิณฑบาตลานพ่อขุน

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก ผลการเลือกตั้งคณะกรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อ.ศ.ม.ร.) และสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (ส.ม.ร.) ปีการศึกษา 2558 ซึ่งนับคะแนนเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 21.00 น. ที่ผ่านมา พบว่า พรรคสานแสงทอง ชนะการเลือกตั้ง ได้เข้าบริหาร อ.ศ.ม.ร. เป็นสมัยที่สามติดต่อกัน ด้วยคะแนน 2,619 คะแนน รองลงมาคือ พรรคตะวันใหม่ 2,259 คะแนน และพรรคพลังราม 1,677 คะแนน จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 7,422 คน ส่งผลให้ นายชาญวิทย์ สุขสงวน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ รหัส 55 ได้เป็นว่าที่นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงคนใหม่ ซึ่งจากนี้จะต้องให้ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอีกครั้ง

รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ พรรคสานแสงทองได้หาเสียงโดยเสนอนโยบายเพิ่มงบประมาณบริหารชมรมนักศึกษา พร้อมสนับสนุนทุกคณะและสาขาที่เปิดใหม่จัดตั้งชมรมนักศึกษา พร้อมงบประมาณบริหาร ขณะเดียวกัน ยังจัดงบประมาณรับน้อง 1 หมื่นบาทต่อกลุ่ม หรือซุ้มนักศึกษา สนับสนุนกีฬาภายใน 3 พันบาทต่อกลุ่ม ซุ้มนักศึกษา หรือชมรมนักศึกษา, งบรับน้อง จิตอาสา 15,000 บาทต่อกลุ่ม หรือซุ้มนักศึกษา และผลักดันติดตั้งปลั๊กไฟทุกกลุ่ม ซุ้มนักศึกษา โดยได้เจาะฐานเสียงจากชมรมนักศึกษาและซุ้มนักศึกษา ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีชมรมนักศึกษากว่า 60 ชมรม และซุ้มนักศึกษากว่า 1,000 ซุ้ม ส่วนพรรคอื่นๆ มักจะมีฐานเสียงจากการทำกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมา เช่น การรับน้องใหม่ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งในช่วงก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งมักจะโทรศัพท์ชักชวนให้ไปเลือกพรรคการเมืองของตน หากปฏิเสธจะแสดงความไม่พอใจออกมา ทำให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่นักศึกษา

เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคสานแสงทองมักจะใช้งบประมาณในการสู้ศึกเลือกตั้งมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ เห็นได้จากการเปิดเวทีแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่ามีการจัดมินิคอนเสิร์ตจาก ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ หรือ โป่ง หินเหล็กไฟ และวงดนตรีอื่นๆ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. อ.ศ.ม.ร. บริหารโดย พรรคสานแสงทอง ยังได้จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้ง ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยได้นิมนต์พระสุเทพ ปภากโร หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส., พระอิสสระ สมชัย หรือ นายอิสสระ สมชัย อดีตแกนนำ กปปส., พระชินวรณ์ จันทะสาโร หรือ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, พระอุทัย อุทาโย หรือ นายอุทัย ยอดมณี แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และนายก อ.ศ.ม.ร. ปี 2556 รวมทั้งพระจากวัดชลประทานรังสฤษฎ์

ทั้งนี้ คืนก่อนวันเริ่มกิจกรรมมีบุคคลบางกลุ่มติดป้ายผ้าโจมตีโดยมีข้อความ “ขอไบกอนฉีดเห็บศาสนา ขอศรัทธาคืนผ้าเหลือง” ซึ่งเป็นประโยคหนึ่งจากกิจกรรมแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ แขวนอยู่บนสะพานลอยปากซอยรามคำแหง 57 รวมถึงสะพานลอยถนนรามคำแหง บริเวณซอยวัดเทพลีลา ได้พบป้ายผ้าที่มีข้อความ “พระถนอม (2) มาแล้ว” ติดอยู่เช่นกัน โดยไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของผู้ใด ทำให้การรักษาความปลอดภัยในวันกิจกรรมเป็นไปอย่างเข้มงวด มีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไว้โดยรอบบริเวณลานพ่อขุนกว่า 50 นาย และเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ หรือ ร.12 พัน 2 รอ. จำนวนหนึ่งมาสังเกตการณ์ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ชุดอีโอดีตรวจค้นวัตุระเบิดบริเวณโดยรอบบริเวณจัดงาน

อนึ่ง พรรคสานแสงทองได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้บริหาร อ.ศ.ม.ร. สามสมัยติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2556 โดย นายอุทัย ยอดมณี เป็นนายก อ.ศ.ม.ร. ปี 2556 ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2556 นายอุทัยได้ร่วมกับ นายนิติธร ล้ำเหลือ นำผู้ชุมนุมต่อต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ปักหลักชุมนุมที่สี่แยกอุรุพงษ์ ก่อตั้งเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กระทั่งร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ระหว่างนั้นในปี 2557 พรรคสานแสงทอง ชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ทำให้ นายวิทยุทธ ดวงแก้ว เป็นนายก อ.ศ.ม.ร. ปี 2557

สำหรับการเลือกตั้งนายกคณะกรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อ.ศ.ม.ร.) และสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (ส.ม.ร.) ได้จัดขึ้น 43 ครั้ง มาตั้งแต่ปี 2514 โดยพรรคนักศึกษาที่เข้ามาบริหาร อ.ศ.ม.ร. มากที่สุด ได้แก่ พรรคตะวันใหม่ 10 สมัย รองลงมาคือ พรรคสานแสงทอง 9 สมัย ซึ่งพบว่าในระยะหลังเป็นการแข่งขันของสองพรรคดังกล่าว โดยมีพรรคพลังรามที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ประมาณ 3 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่านายก อ.ศ.ม.ร. ในอดีตเป็นเวทีที่นำไปสู่บุคคลที่มีชื่อเสียงทางการเมือง อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ แกนนำกลุ่มวังพญานาคเดิม, นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายสิริวัฒน์ ไกรสินธ์ อดีต ส.ว. นครศรีธรรมราช เป็นต้น

อ่านประกอบ : ป้ายปริศนาโผล่ต้าน “พระสุเทพ” บิณฑบาตที่ ม.รามฯ


พระอุทัย อุทาโย หรือนายอุทัย ยอดมณี แกนนำ คปท. และอดีตนายก อ.ศ.ม.ร. ร่วมกิจกรรมบิณฑบาตที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเช่นกัน
การเลือกตั้งคณะกรรมการองค์การนักศึกษา และสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2558 (ภาพจากเฟซบุ๊ก รอบรั้วราม)
นายชาญวิทย์ สุขสงวน ว่าที่นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2558
ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2558
นโยบายหาเสียงของพรรคสานแสงทอง เน้นเพิ่มงบประมาณบริหารชมรมนักศึกษา งบรับน้องใหม่ และงบจิตอาสา เน้นกลุ่มเป้าหมายชมรมและซุ้มนักศึกษา
ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ หรือ โป่ง หินเหล็กไฟ แสดงมินิคอนเสิร์ตในเวทีแถลงนโยบายพรรคสานแสงทอง เมื่อวันที่ 4 ก.พ. (ภาพจากเฟซบุ๊ก พรรคสานแสงทอง)
กำลังโหลดความคิดเห็น