แอ็กชัน “บิ๊กตู่” ในฐานะประธาน นบข. มีคำสั่งให้ชะลออนุมัติระบายข้าว 9 แสนตันออกไปก่อน รอกฤษฎีกาตีความ “เอ็มไพร์ ดีเวลล็อปเมนต์” เข้าข่ายถือหุ้นแทนหรือนอมินีหรือไม่ เผย “สยามอินดิก้า” จ.อ่างทอง ที่ไฟไหม้เคยถูกชาวนาร้อง ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำธุรกรรม
วันนี้ (12 ก.พ.) รายงานระบุว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการทบทวนว่ามีบริษัทไหนเป็นนอมินีที่สร้างปัญหาไว้เก่าในการระบายข้าวหรือไม่ หากพบว่ามีก็ต้องประมูลใหม่
ทั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดประมูลข้าวสารขาวและข้าวสารหอมมะลิจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล 9 แสนตัน โดยมีข้าวที่จะเปิดประมูลใหม่มีปริมาณกว่า 4 แสนตัน
“การประมูลข้าวล็อตนี้ มีบริษัทรวมประมูลไปได้กว่า 9 แสนตัน แต่ถ้าพิสูจน์แล้วไม่มีอะไรตัวเลขก็จะอยู่ที่ประมาณ 9 แสนกว่าตัน แต่ถ้าพิสูจน์แล้วมีบางบริษัทที่ไปเกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีปัญหาอยู่ อาจจะประมาณ 3-4 แสนตัน ก็ยกเลิก ก็เท่ากับว่าขายได้ 5 แสนตันก็เท่านั้นเอง ให้มันถูกต้องแล้วกันจะได้ไม่มีปัญหาในวันหลัง” นายกฯ กล่าว
มีรายงานจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน นบข.ได้มีคำสั่งให้ชะลออนุมัติระบายข้าวในล็อตนี้ออกไปก่อน โดยเห็นควรให้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความว่า บริษัท เอ็มไพร์ ดีเวลล็อปเมนต์ เข้าข่ายถือหุ้นแทน หรือนอมินีหรือไม่ ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้บริษัท สยามอินดิก้า จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูล แต่คดียังไม่ถึงที่สุดและยังไม่มีการตัดสิน จึงยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
ก่อนหน้านี้ การประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2558 มีบริษัทรายใหญ่และรายเล็กร่วมประมูล 96 บริษัท ซึ่งในนั้นมีบริษัทใหม่ที่ไม่เคยร่วมประมูลข้าว ได้แก่ บริษัท เอ็มไพร์ ดีเวลล็อปเมนต์
“ในวันยื่นประมูล ตัวแทนของบริษัท เอ็มไพร์ ดีเวลล็อปเมนต์ เดินทางมาพร้อมๆกับตัวแทนของบริษัท สยามอินดิก้า เพื่อร่วมประมูลข้าว”
ทั้งนี้ บริษัท สยามอินดิก้า ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งเอกชนผู้เข้าร่วมประมูลตั้งข้อสังเกตว่าบริษัท เอ็มไพร์ ดีเวลล็อปเมนต์ ไม่เคยทำธุรกิจค้าข้าวและไม่เคยเข้าร่วมประมูลข้าว แต่กลับเสนอราคาประมูลข้าวสูงกว่าบริษัทค้าข้าวรายใหญ่ โดยเสนอซื้อข้าวในล็อตนี้ถึง 400,000 ตัน
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เอ็มไพร์ ดีเวลล็อปเมนต์ จดทะเบียนเมื่อปี 2545 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท แจ้งประกอบธุรกิจให้เช่าและบริการเรือขนส่งสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ปัจจุบันทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 75 ล้านบาท โดยมีนางสุดา คุณจักร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่เกือบ 800,000 หุ้น มูลค่าเกือบ 75 ล้านบาท
ขณะที่สำนักข่าวอิศรารายงานว่า นางสุดาเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท สยามอินดิก้า ระหว่างเดือนธันวาคม 2552 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2556
“เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่อยู่ของบริษัท เอ็มไพร์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด และบริษัท เอ็มไพร์ ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด เป็นที่อยู่เดิมของบริษัท สยามอินดิก้า และเป็นที่ตั้งบริษัทในเครือข่ายของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” ในปัจจุบัน ส่วนบริษัท ยศการ เฮาส์ แอนด์ เฮลท์ จำกัด และบริษัท ภูเก็ต เวิลด์คลาส เมดิคอล สปา จำกัด ปรากฏชื่อ น.ส.สุธิดา จันทะเอ และ น.ส.สุนีย์ จันทร์สกุลพร นามสกุลเดียวกับนายอภิชาติเข้าไปร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
ชี้ให้เห็นว่า แม้นางสุดา คุณจักร จะไม่ได้ปรากฏรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สยามอินดิก้าแล้ว แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอยู่ และกำลังเข้ามาติดต่อขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล เป็นจำนวนหลายแสนตัน โดยให้ราคาดีเป็นพิเศษ” ข้อมูลของสำนักข่าวอิศรารายงานไว้
ประกอบกับเมื่อกลางดึกวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา มีข่าวไฟไหม้สายพานลำเลียงข้าวสารของบริษัท สยามอินดิก้า อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง สาเหตุเกิดจากเพลิงลุกไหม้สายพานลำเลียงข้าวบริเวณด้านหน้าโรงงานเป็นระยะทางยาวประมาณ 200 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ระดมรถดับเพลิงฉีดน้ำสกัดกว่า 1 ชั่วโมง และสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการเสียดสีของสายพานจนเกิดไฟลุกไหม้ ส่วนมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
ย้อนกลับไปวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 แกนนำชาวน อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการทำธุรกรรมและการดำเนินการเรื่องข้าวของบริษัทนี้ ว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับให้ดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับมาจากโครงการรับจำนำข้าว ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี โดย ป.ป.ช.พบว่าผู้มีอำนาจของบริษัทมีความเกี่ยวข้องกับคนของรัฐบาลหลายคน
แกนนำชาวนา จ.อ่างทอง ตั้งข้อสังเกตวันนั้นว่า บริษัทแห่งนี้มีการขนถ่ายข้าวลงเรือบรรทุกสินค้า และรถบรรทุกขนาดใหญ่ของโกดังบริษัท สยามอินดิก้า ที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลในการปรับปรุงข้าว แต่ทำไมรัฐบาลจึงไม่มีเงินจ่ายให้กับชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำ