xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับหลักการรื้อ ป.แพ่ง-พาณิชย์ ให้ผู้ค้ำประกันนิติบุคคลรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล (แฟ้มภาพ)
สนช.182 เสียงรับหลักการแก้ ป.แพ่ง-พาณิชย์ ให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลผูกพันรับผิดชอบในฐานะลูกหนี้ร่วม พร้อมกำหนดวงเงินคำประกันสูงสุด ขณะที่ สมาชิก สนช.ติดหลายประเด็น ทั้งขัดหลักสากล หวั่นหนังสือค้ำประกันไม่เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (12 ก.พ.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รายงานหลักการและเหตุผลว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องการค้ำประกัน และจำนอง เพื่อให้มีความเหมาะสมแก่การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน สมควรกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ รวมทั้งสามารถทำข้อตกลงล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ หากเป็นสถาบันการเงินหรือประกอบอาชีพค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ

ส่วนสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล สามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม และไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่แตกต่างจากที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันตามมาตรา 686 เป็นโมฆะ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ทำสัญญายกเว้นบทบัญญัติดังกล่าว และแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหน้าที่กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และมีการชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงลดหนี้นั้น

นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ สามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ และกำหนดให้ผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคลนั้น สามารถผูกพันตนอย่างผู้ค้ำประกัน โดยทำเป็นสัญญาค้ำประกันต่างหากได้ รวม ทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลรองรับสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันร่างกฎหมายมีผลใช้บังคับเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อสัญญาที่ทำไว้ก่อนดังกล่าว และกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 691 วรรคหนึ่งแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีเจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันเป็นการลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย

ทั้งนี้ ที่สมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยนายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า ในหลักการตนสนับสนุนเต็มที่ แต่เท่าที่ได้รับฟังจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แสดงความเห็นผ่านมาคือ ในมาตรา 681 วรรค 2 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ให้กำหนดวงเงินค้ำประกันสูงสุดจากเดิมที่ไม่จำเป็นต้องระบุจำนวน ซึ่งการให้ระบุจำนวนเงินที่ตั้งตามสัญญาค้ำประกันสูงสุดเกินกว่าเหตุเพราะเจ้าหนี้ต้องกำหนดวงเงินให้ครอบคลุมมากที่สุด ทั้งต้นเงิน ดอกเบี้ยปกติ ดอกเบี้ยผิดนัด ค่าธรรมเนียมและค่าเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่อาจระบุจำนวนได้ในวันที่ทำสัญญา ซึ่งเจตนารมณ์เดิมต้องการให้ผู้ค้ำประกันรู้ถึงจำนวนเงินรวมที่ค้ำประกันอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบคืออาจทำให้ผู้ค้ำประกันต้องลงนามในสัญญาที่มีวงเงินค้ำประกันสูงกว่าเงินกู้จำนวนมากตนเกรงว่าจะเป็นการไม่สนับสนุนการลงทุน เพราะจะทำให้ผู้ลงทุนติดกับภาระค้ำประกันที่สูงและไม่สามารถกู้เงินหรือลงทุในโครงการอื่นๆได้

นอกจากนี้ ในมาตรา 686 วรรคหนึ่ง เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน60 วันนับแต่วันผิดนัด หากไม่บอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน และค่าภารกิจที่เกิดขึ้นภายหลังจากกำหนด 60 วันดังกล่าว ควรจะหมายถึงเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระเงิน ไม่ใช่หมายรวมถึงทุกกรณี ซึ่งผู้ค้ำอาจจะอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกกล่าวเพื่อไม่ต้องชำระดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น

และในมาตรา 686 วรรคสาม กำหนดทางเลือกให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องชำระหนี้ 2 ทาง คือชำระทั้งหมดและชำระตามเงื่อนไขและวิธีการของสัญญา การกำหนดดังกล่าวอาจส่งผลให้เจ้าหนี้ได้รับหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดในกรณีที่ผู้ค้ำประกันเลือกทางที่ 2 ทั้งที่มีการเรียกเงินคืนครบจำนวนแล้ว จะทำให้ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติตามหลักสากล และไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ แทนที่เจ้าหนี้จะได้รับเงินเต็มจำนวนในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดอาจต้องได้รับชำระตามเงื่อนไขเดิมตามสัญญา หากผู้ค้ำประกันเลือกใช้สิทธิ์ดังกล่าวจะทำให้เจ้าหนี้สิ้นสิทธิ์ได้รับการชำระเงินทั้งจำนวนในคราวเดียวกัน โดยจะต้องรอรับเงินตามงวดที่กำหนดไว้ตามสัญญาเดิม ถือว่าไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศอาจส่งผลให้หนังสือค้ำประกันที่ออกภายใต้เงื่อนไขมาตรา 686 ไม่เป็นที่ยอมรับและสถาบันการเงินอาจจะปฏิเสธการขอกู้เงินได้ การที่บังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้เต็มจำนวนก่อนถึงกำหนดจากการผิดสัญญาของลูกหนี้นั้นแสดงว่าเจ้าหนี้ไม่มีความไว้วางใจในเครดิตของลูกหนี้แล้ว จึงต้องการให้ชำระเงินเต็มจำนวน ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล การที่ผู้ค้ำประกันเลือกที่จะชำหนี้ตามเงือนไขเดิมได้จึงไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ควรพิจารณาตัดเงื่อนไขที่2 ออกไปและมาตรา 727/1 ห้ามผู้จำนองรับผิดเกินกว่าทรัพย์สินที่จำนอง อาจเกิดการเข้าใจผิดว่าห้ามผู้จำนองเป็นผู้ค้ำประกันในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการที่จำเป็นต้องมีหลักประกัน เช่นการประกันและจำนองโดยบริษัทแม่ หากกฎหมายมีเจตนารมณ์จะปกป้องผู้จำนองไม่ให้ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์ที่จำนองก็ควรเขียนให้ชัดเจนถึงข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเกินไปกว่าทรัพย์ที่จำนองนั้นเป็นโมฆะ แต่ไม่ควรไปจำกัดสิทธิ์ผู้จำนองที่จะเข้าทำสัญญาในฐานะอื่นเช่นผู้ค้ำประกัน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) ซึ่งมีการประกาศใช้ในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 และให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และผ่านมาไม่นาน ก็ต้องแก้ไขฉบับนี้ เป็นการแก้ไขฉบับที่ 21 โดยมีการแก้ไขใน 5 ประเด็น ต้องเป็นความรับชอบส่วนหนึ่งของ สนช. ดังนั้นจะต้องเร่งพิจารณาโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันมีการดำเนินโครงการที่อยู่ระหว่างการเซ็นสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชน ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากรอดูความชัดเจนของกฎหมาย

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ชี้แจงว่า ตามที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องระบุวงเงินค้ำประกันสูงสุด เนื่องจากบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้ความเสียหาย จากวงเงินกู้รวมกับดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จึงเห็นควรกำหนดวงเงินสูงสุด แต่หากผู้ค้ำประกันเห็นว่า ตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไปก็ไม่จำเป็นต้องเซ็นค้ำประกันได้ อีกทั้งการเปิดทางเลือกให้ชำระหนี้ได้ 2 ทาง ทั้งการชำระทั้งหมดและชำระตามเงื่อนไข เช่น หากสัญญากู้เงิน 5 ปี เริ่มผิดชำระหนี้ในปีที่ 2 ผู้ค้ำประกัน สามารถเลือกชำระได้ ทั้งชำระครั้งเดียวทั้งหมด หรือชำระเป็นงวดในปีที่ 3-5 ตามเงื่อนไขสัญญาเดิม เพื่อให้สัญญาเดินต่อไปได้ เป็นทางเลือกที่จะให้ประโยชน์กับผู้ค้ำประกัน แม้จะไม่สอดรับกับต่างประเทศก็ตาม

จากนั้นได้มีการลงมติเห็นชอบรับหลักการต่อร่างกฎหมายดังกล่าว 182 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าวจำนวน 15 คนแปรญัติติภายใน 7 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น