สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ร้องนายกฯ สั่งการให้บริษัทฯ แก้ไขสัญญาจ้างยาวถึง 60 ปี หลังจ้างพนักงานรายสัญญา 2 พันราย ไม่เป็นธรรม อีกทั้ง กสม. ระบุละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เข้าพบ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีขอให้สั่งการให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาว่าจ้างพนักงานในฝ่ายบริการภาคพื้น (DK) ฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น (D2) และฝ่ายต้อนรับบนเครื่องบิน (DQ) ที่มีประมาณ 2,000 ราย ให้เป็นพนักงานโดยได้รับเงินเดือนตามโครงสร้างบัญชีเงินเดือน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ ตามระเบียบบริษัทฯ ซึ่งใช้กับพนักงานทั่วไป แต่มีระยะเวลาสัญญาจ้างเป็นช่วง 2, 4 และ 5 ปี และเมื่อครบสัญญาก็จะมีการต่อสัญญาเป็นคราวๆ ไป
ซึ่งทางสหภาพฯ เห็นว่าสัญญาดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่เป็นธรรมกับพนักงาน เนื่องจากลักษณะงานดังกล่าวเป็นภารกิจประจำบริษัท พนักงานจึงควรมีสัญญาจ้างเกษียณที่อายุ 60 ปี เช่นเดียวกับพนักงานอื่นๆ ทั่วไป สหภาพฯ จึงได้ไปร้องเรียนกับบริษัท และขอร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำการตรวจสอบ
ต่อมา กสม. ได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้บริษัท การบินไทย ดำเนินการแก้ไข แต่จนถึงปัจจุบัน บริษัท การบินไทย ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ กสม. พิจารณาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สหภาพฯ จึงขอความกรุณา นายกฯโปรดมีบัญชาให้บริษัท การบินไทย ดำเนินการแก้ไขตามความเห็นของ กสม. โดยเร่งด่วนต่อไป