วิป สนช.ถกวุ่นแก้กฎหมายแพ่งยกเลิกฎีกา หลังสภาทนายความค้านตัดสิทธิประชาชน สู้คดี 3 ศาล ขณะที่ศาล-รบ.ลุยเดินหน้าเร่งให้เกิดความยุติธรรมที่รวดเร็ว ลดการขูดรีดจากการต่อสู้คดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 ก.พ. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ฎีกา โดยมีข้อสรุปให้แขวนการพิจารณาเพื่อให้รัฐบาลไปตกลงในรายละเอียดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศาลยุติธรรม และสภาทนายความ หากตกลงกันไม่เรียบร้อยคาดว่าวิป สนช.จะนำกลับมาพิจารณาใหม่ในสัปดาห์หน้า จากเดิมที่มีกำหนดจะเข้าสู้ที่ประชุมในวันที่ 5 ก.พ. เนื่องจากในที่ประชุมวิป สนช.ยังมีการถกเถียงข้อดีข้อเสียในหลักการและเหตุผลที่ต่อไปคดีแพ่งจะพิจารณาจบในสองศาลคือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
จากเดิมต้องพิจารณาสามศาลจนถึงชั้นศาลฎีกา เว้นแต่ในบางกรณีที่ศาลเห็นว่าสามารถขึ้นสู่ชั้นฎีกาได้ โดยต้องผ่านการกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองจำนวน 4 คน ประกอบด้วย ผู้พิพากษาในชั้นศาลฎีกา 3 คน และ รองประธานศาลฎีกาจำนวน 1 คน เป็นผู้วินิจฉัย ทั้งนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือ สภาทนายความ ได้ทำหนังสือปกดำแสดงความเห็นคัดค้านมายังวิป สนช. โดยให้เหตุผลว่า เป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครองสามศาล ขณะที่ศาลยุติธรรมและฝ่ายรัฐบาล เห็นว่าการแก้กฎหมายใหม่จะช่วยให้ประชาชนได้รับการอำนวยความยุติธรรมที่รวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ หากกฎหมายได้รับการแก้ไขต่อไป คดีที่จะสามารถฎีกาได้ อาทิ ปัญหาเกี่ยวพันประโยชน์สาธารณะ, เมื่อศาลอุทธรณ์ตัดสินขัดกับบรรทัดฐานของศาลฎีกา, ศาลอุทธรณ์ตัดสินขัดกับศาลชั้นต้น, ศาลอุทธรณ์ตัดสินแตกต่างไปจากแนวคำพิพากษาหรือไม่เคยมีแนวคำพิพากษามาก่อน และปัญหาสำคัญตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่สภาทนายความพยายามคัดค้านเรื่องนี้ เนื่องจากไปกระทบต่อการว่าจ้างทนายความต่อสู้คดีในชั้นศาลจำนวน 3 ศาล ถูกตัดทอนลงเหลือ 2 ศาล ขณะที่ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าเรื่องนี้จะตีกลับไม่ได้ เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนถูกเอาเปรียบจากการต่อสู้คดีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายว่าจ้างทนายความจำนวนมาก และใช้ระยะเวลานาน